ศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ

ศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

เรืองสุรีย์ วงษ์ทองสาลี 2      กาญจนา ธรรมรัตน์ 2

 บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนและข้อมูลส่วนบุคคลของครูผู้รับผิดชอบ กิจกรรมไก่ไข่  ศึกษาสภาพการดำเนินงานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความคิดเห็นของครู ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานของโรงเรียน ปัจจัยส่วนบุคคล ประสิทธิภาพการผลิต และประสิทธิภาพด้านการเงิน กับผลผลิตโปรตีนจากสัตว์และกองทุนเลี้ยงสัตว์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมไก่ไข่ในโรงเรียนโครงการ ตามพระราชดำริจำนวน 107 โรงเรียน 107 คน พื้นที่ 34 จังหวัด ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2551 วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป (SPSS/FW)

               ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพบว่า เป็นโรงเรียนสังกัด ตชด.ร้อยละ 78.5 โรงเรียนสังกัด สพฐ.ร้อยละ 21.5 ระดับชั้นที่เปิดสอน ชั้นอนุบาล-ป.6 ร้อยละ 91.6 จำนวนนักเรียนเฉลี่ย 177.3 คน จำนวนครูเฉลี่ย 10.1 คน พื้นที่เฉลี่ย 20.7 ไร่ ข้อมูลส่วนบุคคลของครูพบว่า ร้อยละ 90.7 รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ร้อยละ 29.9 ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมเนื่องจากมีการโยกย้ายและเปลี่ยนหน้าที่   

                สภาพการดำเนินกิจกรรมไก่ไข่ ร้อยละ 48.6 จัดระบบป้องกันโรคสัตว์ปีกดี ร้อยละ 47.7 ระบบการบันทึกข้อมูลดี มีกองทุนเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 441.6 บาท/นักเรียน 1 คน ประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่ไข่ที่ควรปรับปรุง คือ การให้อาหารเฉลี่ย/ตัว/วัน จำนวนไข่เฉลี่ย/ตัว อัตราการไข่ตลอดรุ่นเฉลี่ย ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อัตราการตายสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ประสิทธิภาพด้านการเงินที่ควรปรับปรุง คือ ต้นทุนการผลิต และราคาขายไข่เฉลี่ย ผลของการดำเนินโครงการพบว่า ปริมาณโปรตีนจากสัตว์ที่ผลิตได้เฉลี่ย 65.9 กรัม/คน/วัน ปริมาณที่จัดให้นักเรียนบริโภคเฉลี่ย 79.9 กรัม/คน/วัน อัตราน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ของเด็กนักเรียนเฉลี่ย 2.7% สำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ

                ความคิดเห็นของครูต่อการดำเนินกิจกรรมภาพรวม พบว่ามีความเหมาะสมปานกลาง โดยสภาพการดำเนินงานกิจกรรมไก่ไข่ของโรงเรียน การสนับสนุนของผู้บังคับบัญชา การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีความเหมาะสมปานกลาง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ การทำกิจกรรมของนักเรียน และความรู้สึกของครูในการทำกิจกรรม มีความเหมาะสมมาก แต่การมีส่วนร่วมของชุมชน มีความเหมาะสมน้อย

                  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของโครงการ พบว่า ปัจจัยพื้นฐานของโรงเรียน คือ จำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน พื้นที่ของโรงเรียน และระดับชั้นที่เปิดสอน ประสิทธิภาพการผลิต คือ จำนวนไข่เฉลี่ย/ตัว และอัตราการไข่ตลอดรุ่น มีผลต่อทั้งผลผลิตโปรตีนจากสัตว์และกองทุนเลี้ยงสัตว์ สำหรับปัจจัยส่วนบุคคลของครู และประสิทธิภาพด้านการเงิน ไม่มีความสัมพันธ์กับผลสำเร็จของโครงการ

คำสำคัญ :   โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ   ผลสำเร็จของโครงการ                 
                 โปรตีนจากเนื้อสัตว์  กองทุนเลี้ยงสัตว์


1   ทะเบียนผลงานวิชาการเลขที่ 52(2)-0211-039
2   สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ กรุงเทพฯ