การพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คำนำ                   

                การส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ใน อดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ประสบผล สำเร็จมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากนักส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่มองภาพของระบบการ เลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในรูปของการทำเกษตรกรรมแบบเชิงเดี่ยว การพัฒนามุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และระดมทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อเร่งรัดการผลิตโดยมุ่งหวังเพียงเพื่อสร้างราย ได้จากการค้าและการส่งออกเป็นเป้าหมายหลัก จนมองข้ามผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสภาพสังคม และความมนุษย์ของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรประสบความล้มเหลวในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ โดยพบว่าแม้จะสามารถเพิ่มผลผลิตมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว  มีสินค้าการเกษตรส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน มีหนี้สิน ครอบครัวและชุมชนยังมีปัญหาความแตกแยก ขาดความสุข ในขณะที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ดิน และน้ำ ถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่านักพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรต้องทบทวนแนว ทางในการทำงานเสียใหม่  มุมมองการผลิตปศุสัตว์แบบเชิงเดี่ยวอาจไม่ใช่คำตอบของเกษตรกรรายย่อย  การผลิตปศุสัตว์ที่ถูกต้องควรมองในองค์รวมที่ต้องมีระบบการผลิตที่บูรณาการ เชื่อมโยงไปกับระบบการผลิตพืชและประมง ในลักษณะที่เกื้อกูลกัน  และพัฒนาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา ประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างชุมชนเกษตรกรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดำเนินการผลิตด้วยเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างเหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และที่สำคัญต้องนำมา ซึ่งความสุขของครอบครัว และชุมชนเป็นเป้าหมายสูงสุด กระบวนการทำงานของนักส่งเสริมปศุสัตว์ต้องปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำ เป็นผู้ให้  เป็นนักพัฒนา  และนักสังคมสงเคราะห์ ให้กลับมาเป็นผู้อำนวยการ (Facilitator) ผู้ประสาน (Coordinator) และผู้สนับสนุน (Promoter) โดยเน้นกระบวนการทำงานเพื่อสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ร่วมคิด  ร่วมวิเคราะห์ปัญหา ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เอกสารฉบับนี้ได้รวบรวมแนวทาง และเทคนิคในการทำงานส่งเสริมพัฒนาการเกษตรและเลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืนตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำเอากระบวนการมีส่วนร่วมมาใช้ในการพัฒนา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในงานส่งเสริมการปศุสัตว์ได้นำไปพิจารณา ปรับใช้ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์กับเกษตรกร อันจะทำให้งานส่งเสริมเป็นไปอย่างเหมาะสม และได้รับการยอมรับจากเกษตรกรอย่างแท้จริง

นายปัญญา  ธรรมศาล
กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์เชิงบูรณาการ
สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม