การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  
Study on Sustainable Factor in Livestock Raiser Commune under Sufficiency Economy Philosophy 
โดย  นางวรางคณา  โตรส  นางวิภาวรรณ  ปาณะพล

บทคัดย่อ

                  การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์รวมใน ๓ ประการ ดังนี้ ๑. เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ๒.  เพื่อศึกษาความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ ๓. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้นำชุมชนที่มีต่อปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืน โดยศึกษาจากชุมชนเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๓๔ ชุมชน ทั่วประเทศ ผลการศึกษามีดังนี้

                  ชุมชน เลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนใหญ่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และมีการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงเวลาที่ต่างกัน มีการจัดทำแผนงานของชุมชนฯ คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๑ ของชุมชนเลี้ยงสัตว์ฯ  จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ร่วมกับปลูกพืช เป็น ๓๒ แห่ง จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช ร่วมกับทำประมง เป็น ๒๑ แห่ง จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชและทำวิสาหกิจชุมชน เป็น ๑๕ แห่ง จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำประมง และ วิสาหกิจชุมชน เป็น ๑๑ แห่ง  

                 ผลการประเมินความยั่งยืนในการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพิจารณาจากข้อมูลทั่วไปของชุมชน(๑๐ คะแนน) ข้อมูลผู้นำชุมชน(๕ คะแนน) ข้อมูลระดับการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(๗๕ คะแนน) การประเมินตนเอง(๑๐ คะแนน) โดยชุมชนที่ได้คะแนนมากกว่า ๘๐ คะแนน ซึ่งถือว่ามีระดับความยั่งยืนสูง มีจำนวน ๘ ชุมชน และได้คะแนนน้อยกว่า ๘๐ คะแนนมีจำนวน ๒๖ ชุมชน

                  ในด้านปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืน จากการศึกษาในชุมชนพบว่า มีด้านหลักรวม ๔ ด้านคือ  ๑. ปัจจัยทุนทางสังคม  ทั้งที่เป็นรูปธรรมและไม่เป็นรูปธรรม โดยปัจจัยทุนที่เป็นรูปธรรมคือ สมาชิกในชุมชนเลี้ยงสัตว์และทรัพยากรธรรมชาติที่มีในพื้นที่ รวมทั้งทุนที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัจจัยทุนทางสังคมที่เป็นนามธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในชุมชนเลี้ยงสัตว์ ศาสนา ๒. ปัจจัยการรวมกลุ่มและชุมชนเข้มแข็ง โดยผู้นำชุมชนเป็นผู้กระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนเกิดความสนใจ ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และ ปัญหาด้านอื่น ๆ ของชุมชน๓. ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน ได้แก่ ป่าชุมชน ดิน แหล่งน้ำ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้ชุมชนแห่งนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีระบบนิเวศน์ที่ดี โดยชุมชนต้องมีกิจกรรมในการสร้างจิตสำนึกของสมาชิกเพื่อให้ใช้รักษาทรัพยากร ที่มีอยู่ อย่างคุ้มค่า และรักษาสภาพแวดล้อม ๔. ปัจจัยการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งเป็นการสนับสนุนในรูปองค์ความรู้ หรือทุนจากภายนอกเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ชุมชน เช่น แหล่งน้ำธรรมชาติ  ระบบชลประทาน เป็นต้น 

คำสำคัญ : ชุมชนเลี้ยงสัตว์, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ความยั่งยืน


สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ราชเทวี กรุงเทพฯ

download เรื่องเต็ม