การศึกษาสภาพการเลี้ยงกระบือและความพึงพอใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือในจังหวัดสระบุรี

 

การศึกษาสภาพการเลี้ยงกระบือและความพึงพอใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือในจังหวัดสระบุรี
โดย ประดิษฐ์ ไชยหันขวา และ  สุวิช  บุญโปร่ง 

 

บทคัดย่อ

                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการเลี้ยงกระบือของเกษตรกร ความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการเลี้ยงกระบือ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ กลุ่มตัวอย่างของประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือในจังหวัดสระบุรี จำนวน 330 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมสำเร็จรูป Statistical  Packages for the Social  Science (SPSS) เพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และ ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน

                ผลของการศึกษา  พบว่า วัตถุประสงค์หลักของการเลี้ยงกระบือ เพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากมูลกระบือ และเพื่อผลิตลูกขาย ร้อยละ 82.5 และ 76.0 ตามลำดับ  เกษตรกรมีระยะเวลาเลี้ยงกระบือมาแล้วน้อยกว่า 11 ปี จำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 45.6) แรงงานที่ใช้ในการเลี้ยงกระบือ 1 – 2 คน ส่วนใหญ่เลี้ยงกระบือด้วยตัวเอง (ร้อยละ 82.4)  จำนวนกระบือที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงอยู่ระหว่าง 1- 5 ตัว / ครอบครัว (ร้อยละ 75.4) เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ  93.7 ใช้พ่อพันธุ์ในการผสมพันธุ์ มีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ เพียงร้อยละ 65.5 เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 90.5 มีคอกขังกระบือ ซึ่งแยกต่างหากจากบ้านพัก (ร้อยละ 65.5) ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.0 ไม่มีพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ มีการสำรองพืชอาหารสัตว์ (ฟางข้าว) ร้อยละ 80.2 มีการใช้อาหารข้นและให้แร่ธาตุเสริมสำหรับเลี้ยงกระบือ เพียง ร้อยละ 23.1 และ 26.5 ตามลำดับ การป้องกันและรักษาโรค พบว่า ได้รับการบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ร้อยละ 90.5 มีการถ่ายพยาธิกระบือ ร้อยละ 68.4 เมื่อกระบือป่วยได้รับการรักษาโรคจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ร้อยละ 70.5 จากอาสาปศุสัตว์ ร้อยละ 10.0 และรักษาด้วยตนเอง ร้อยละ 19.6

                 ความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการเลี้ยงกระบือในแต่ละด้านดังนี้ ด้านสภาพการเลี้ยงกระบือในปัจจุบัน ด้านการจำหน่ายและผลตอบแทนจากการเลี้ยงกระบือ และด้านการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงกระบือ มีความพึงพอใจในระดับมาก ส่วนความพึงพอใจต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อยู่ในระดับปานกลาง

                 สำหรับปัญหาและอุปสรรค คือ พื้นที่เลี้ยงกระบือไม่เพียงพอ ขาดแคลนเงินทุน อาหารหยาบไม่เพียงพอ และขาดความรู้การเลี้ยงกระบือตามหลักวิชาการ ข้อเสนอแนะจากเกษตรกรที่ได้จากการศึกษา คือ กรมปศุสัตว์ควรมีนโยบายสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาการเลี้ยงกระบือในหมู่บ้านที่มีศักยภาพสูง ให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างการเลี้ยงกระบือของแต่ละอำเภอ ควรมีการจัดฝึกอบรมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร รู้จัก การคัดเลือกพ่อพันธุ์กระบือที่มีลักษณะดี การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ การปลูกพืชอาหารสัตว์ การใช้แรงงาน และมูลกระบือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำสำคัญ: การเลี้ยงกระบือ   ความพึงพอใจ   จังหวัดสระบุรี