ปัจจัยที่มีผลต่อการอนุรักษ์ใช้แรงงานกระบือของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี

โดย ศรณรงค์   ศุภชวลิต     พินิจ  ศรีเจริญ   ทรนง  ลือโสภา 1/                            

              การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการอนุรักษ์ใช้ แรงงานกระบือของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี ในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 397 ราย โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวม ได้แก่ สภาพพื้นฐานทั่วไปของเกษตรกร สภาพการเลี้ยงกระบือ และการใช้แรงงานกระบือทำการเกษตร ปัญหาการเลี้ยงกระบือ ทำการวิเคราะห์ข้อมูล หาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุ

              ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรที่เลี้ยงกระบือส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 52.05 ปี ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา ทำนาเป็นอาชีพหลัก มีจำนวนสมาชิกในครอบครัว เฉลี่ย 4.90 คน แรงงานในครอบครัวที่ช่วยทำการเกษตรได้ เฉลี่ย 3.34 คน มีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 20.98 ไร่ เกษตรกรร้อยละ 94.46 มีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นของตนเอง  รายได้หลักของครอบครัวมาจากการทำนา เฉลี่ย 34,965.24 บาท/ราย/ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือส่วนใหญ่มีเครื่องจักรกลการเกษตร คือ รถไถเดินตาม เกษตรกรมีจำนวนกระบือเฉลี่ย 3.7 ตัว ส่วนใหญ่เป็นแม่กระบือ มีเกษตรกรเพียงส่วนน้อยใช้แรงงานจากกระบือในการเตรียมพื้นที่ทำนา จำนวนกระบือที่เกษตรกรใช้แรงงานเฉลี่ย 0.45 ตัว เกษตรกรทุกรายใช้มูลกระบือในการทำการเกษตร โดยใช้มูลกระบือเฉลี่ย 3,161.46 กก. อาหารหยาบที่ใช้ในการเลี้ยงกระบือเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือทุกรายใช้หญ้าที่ ขึ้นเองตามธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะพื้นที่ไม่ใช้ทำนา ร่วมกับการใช้ฟางข้าว เมื่อกระบือเจ็บป่วย จะได้รับการรักษาจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และกิจกรรมเกี่ยวกับกระบือที่เกษตรกรเข้าร่วม คือ กิจกรรมการประชุมกลุ่มผู้เลี้ยงกระบือ ในรอบปีที่ผ่านมามีเกษตรกรส่วนน้อยมีการซื้อกระบือ โดยเกษตรกรซื้อกระบือ เฉลี่ย 0.28 ตัว ใช้เงินซื้อกระบือเฉลี่ย 2,776.07 บาท เกษตรกรส่วนน้อยมีการขายกระบือ โดยเกษตรกรขายกระบือเฉลี่ย 0.88 ตัว จำนวนเงินที่ได้จากการขายกระบือเฉลี่ย 9,186.40 บาท เกษตรกรส่วนใหญ่มีการซื้อปุ๋ยเคมีใช้เงินเฉลี่ย 5,687.73 บาท และซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการเกษตรเป็นเงินเฉลี่ย 1,504.53 บาท

             เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือมีปัญหาการเลี้ยงกระบือในระดับมาก ได้แก่ ปัญหาขาดแคลนพ่อพันธุ์กระบือที่มีลักษณะดี ส่วนปัญหาในระดับปานกลาง มีจำนวน 4 ข้อ คือ ปัญหาขาดแหล่งสินเชื่อที่จะสนับสนุนเงินทุนในการเลี้ยงกระบือ ปัญหาขาดความรู้ในการเลี้ยงดูกระบือตามหลักวิชาการ ปัญหาภาครัฐไม่มีการส่งเสริมการเลี้ยงกระบืออย่างต่อเนื่อง และปัญหากระบือทำงานช้ากว่ารถไถนา

             ปัจจัยที่มีผลต่อการอนุรักษ์การใช้แรงงานกระบือของเกษตรกร ได้แก่ ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการอนุรักษ์การใช้แรงงานกระบือของ เกษตรกร แต่การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร จำนวนเงินที่ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง และปัญหากระบือทำงานช้ากว่ารถไถนา มีความสัมพันธ์เชิงลบกับการอนุรักษ์การใช้แรงงานกระบือของเกษตรกร

คำสำคัญ  : การอนุรักษ์ใช้แรงงานกระบือ , จังหวัดอุบลราชธานี


ทะเบียนผลงานวิจัยเลขที่ 53(1) – 0511 - 0141
1/ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีอำนาจเจริญ อ.เมือง จ. อำนาจเจริญ