การศึกษาผลการดำเนินโครงการไถ่ชีวิตโค – กระบือ ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

การศึกษาผลการดำเนินโครงการไถ่ชีวิตโค – กระบือ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80  พรรษา 5  ธันวาคม 2550 
โดย ธีรวิทย์  ขาวบุบผา 

                   

                        การศึกษาผลการดำเนินโครงการไถ่ชีวิตโค–กระบือ  ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา  5  ธันวาคม 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร การจัดการดูแลเลี้ยงโค-กระบือของเกษตรกร และความพึงพอใจและความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มของเกษตรกรที่ เข้าร่วมโครงการ

                        ประชากรและขนาดตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เกษตรกรสมาชิกโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ที่ได้รับการสนับสนุนโค-กระบือจากโครงการไถ่ชีวิตโค – กระบือ เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  80  พรรษา  5  ธันวาคม 2550  ในพื้นที่ 14 จังหวัด เกษตรกรรวม จำนวน 1,176 ราย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์ ใช้ข้อมูลสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าสูงสุด  ค่าต่ำสุด ในการวิเคราะห์

                        ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรร้อยละ 52.04 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.96 เป็นเพศหญิง เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 31.63 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี เฉลี่ยเกษตรกรมีอายุ 49.40 ปี เกษตรกรร้อยละ 85.54 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา  ร้อยละ 54.51 มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนอยู่ระหว่าง     3 - 4  คน  เฉลี่ยครัวเรือนละ  4.16  คน  ร้อยละ 56.89 มีแรงงานในภาคการเกษตรอยู่ระหว่าง  1 - 2  คน  เฉลี่ยครอบครัวละ  2.65  คน  เกษตรกรร้อยละ 55.61 มีพื้นที่ถือครองระหว่าง 1-10 ไร่  เฉลี่ยมีพื้นที่ถือครองครัวเรือนละ 13.09  ไร่  เกษตรกรร้อยละ 73.56 ประกอบอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลัก  เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 45,163.47 บาท

                    เกษตรกรร้อยละ  52.45  ได้รับทราบข้อมูลจากจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ  เกษตรกรร้อยละ  82.06 รับมอบโคเพศเมีย และร้อยละ 17.94 รับมอบกระบือเพศเมีย เกษตรกรร้อยละ 56.90 ได้รับสัตว์มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี เกษตรกรร้อยละ 51.50 ไม่มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เป็นของตนเอง เกษตรกรร้อยละ 58.0 อาศัยแหล่งหญ้าธรรมชาติ ตามข้างถนน หรือหัวไร่ปลายนา เกษตรกรร้อยละ 77.90 มีการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นอาหารโค-กระบือ  เกษตรกรร้อยละ 34.70 อาศัยแปลงหญ้าสาธารณะของหมู่บ้าน  เกษตรกรร้อยละ 1.6 ใช้แรงงานจากโค-กระบือ   เกษตรกรร้อยละ 76.0 ได้ใช้เป็นปุ๋ยคอกอย่างเดียว เกษตรกรร้อยละ 98.5 ทราบว่าต้องคืนลูกตัวแรกให้โครงการ จำนวน  1 ตัว และจะได้กรรมสิทธิ์ในตัวแม่พันธุ์และลูกตัวที่เหลือเมื่อครบสัญญา 5 ปี  เกษตรกรร้อยละ 92.70 ได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบของโครงการ เกษตรกรร้อยละ 84.80 ได้รับการอบรมเรื่องหลักการเลี้ยงโค-กระบือ เกษตรกรร้อยละ 89.50 ได้รับการอบรมเรื่องอาหารและการให้อาหารโค-กระบือ เกษตรกรร้อยละ 99.20 ได้รับการอบรมเรื่องโรคและการป้องกันโรคในโค-กระบือ เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 93.80 ได้รับการตรวจเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่  การให้ผลผลิตของแม่โค-กระบือ  พบว่าแม่โค-กระบือของเกษตรกรร้อยละ 33.50 ที่ให้ลูกตัวที่ 1 แล้ว

                   เกษตรกรส่วนใหญ่มีระดับความคิดเห็นในลักษณะการมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มอยู่ในระดับปานกลาง โดย ร้อยละ 75.93 เห็นด้วยระดับปานกลางในการที่จะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 74.49 เห็นด้วยระดับปานกลางในการทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่ม ร้อยละ 72.79 เห็นด้วยระดับปานกลางในการทำให้เกิดความยุติธรรมภายในกลุ่ม ร้อยละ 65.90 เห็นด้วยระดับปานกลางในการมีส่วนในการวางแผน ร้อยละ 60.06 เห็นด้วยระดับปานกลางในการมีส่วนร่วมในการจัดสรรผลประโยชน์ ร้อยละ 56.12 เห็นด้วยระดับปานกลางในการมีส่วนในการดำเนินงานของกลุ่ม ร้อยละ 51.02 เห็นด้วยระดับปานกลางในการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล  เกษตรกรร้อยละ 100.00 มีความพึงพอใจต่อโครงการ และร้อยละ 97.80 คาดว่าจะเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับต่อไปเมื่อสัญญาครบ 5 ปี

คำสำคัญ : ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ , ผลการดำเนินโครงการ


1/เลขทะเบียนผลงาน        54 (2) – 0211 – 128    
2/สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์