สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2551 ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์
กลุ่มอนุรักษ์ควายไทยบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ
อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์
จัดตั้งเมื่อ 15 พฤษภาคม 2543
สมาชิกแรกตั้ง จำนวน 70 คน
สมาชิกปัจจุบัน จำนวน 121 คน
อาชีพ กลุ่มอนุรักษ์กระบือ
ประธานกลุ่ม นายบุญชู สายบุตร
ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 22 ม. 15 ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์
โทรศัพท์ 08-1389-4320
ผลงานดีเด่น
การดำเนินการกิจกรรมในปัจจุบัน
จากสมาชิกแรกเริ่มเมื่อปี 2543 จำนวน 70 คน มีโค18 ตัว กระบือ 61 ตัว กลุ่มอนุรักษ์ควายไทยบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ ได้ดำเนินการในกิจกรรมต่างๆเพื่อเพิ่มจำนวนกระบือของกลุ่มโดยการรื้อฟื้นประเพณีพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์ควายไทย อาทิเช่นประเพณีทำบุญรอยโค-รอยกระบือไทยการทอดผ้าป่าขี้ควาย จึงจัดประกวดวาดภาพของเยาวชนเกี่ยวกับวิถีชีวิตการเลี้ยงกระบือ การจัดประกวดกระบือไทย จนถึงปัจจุบันจำนวนสมาชิก
ได้เพิ่มขึ้นเป็น 121 ราย จำนวนควายเพิ่มขึ้นเป็น 386 ตัว เป็นเพศเมีย 378 ตัวและเพศผู้ 8 ตัว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 จนถึงปี 2551 มีการมอบลูกกระบือให้กับสมาชิกใหม่จำนวน 73 ตัว และมอบเป็นสาธารณกุศล จำนวน 6 ตัว กลุ่มมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกิจกรรมของกลุ่มกับกิจกรรมอื่นๆ ของหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนกันกับการเลี้ยงกระบือ ความยั่งยืนในอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น มีการนำมูลกระบือ ไปใช้เป็นปุ๋ยคอกในการปลูกพืชผักสวนครัว ใส่แปลง ไม้ผลและที่นา เพื่อเป็นการลดรายจ่ายซึ่งไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมี และไปขายให้กับโรงปุ๋ยอินทรีย์ ขณะเดียวกันกลุ่มมีการจัดหาปัจจัยการผลิตจำหน่ายให้สมาชิกในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงพันธุ์กระบือ ของสมาชิกให้ดีขึ้น โดยใช้กระบือพ่อพันธุ์ดีและการผสมเทียม ส่งเสริมให้สมาชิกการปลูกพืชอาหารสัตว์ การเก็บสำรองฟางข้าวไว้ให้กระบือกินในฤดูแล้ง ทำวัคซีนป้องกันโรคให้กับกระบือ ตลอดจนมีการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อใช้บำรุงรักษาโค - กระบือ
ความคิดริเริ่ม
เดิมเกษตรกรในชุมชนบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ ซึ่งมีการทำนาเป็นอาชีพหลักและมีการเลี้ยงควายเพื่อใช้เป็นแรงงานไถนาและใส่ปุ๋ยคอกที่ได้จากการเลี้ยงควายลงในที่นาของตนเอง ต่อมาเมื่อระบบทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน เกษตรกรได้หันไปพึ่งพาเครื่องจักรกลในการทำนาและใช้ปุ๋ยเคมีแทนปุ๋ยคอก จึงได้ขายควายในคอกให้พ่อค้าออกไปทุกวันจนควายซึ่งเคยมีเต็มทุ่งนาหลายร้อยตัวลดลงเหลือไม่กี่สิบตัว การหายไปของควายในคอกถูกทดแทนด้วย
เครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ เสื่อมโทรมลง กบ เป็ด ปู ปลา ซึ่งเคยมีอยู่เต็มห้วย หนอง คลอง บึงก็หายไป ทำให้ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มีหนี้สินครัวเรือนละหลายหมื่นบาท จากปัญหารุมเร้าดังกล่าว ชุมชนจึงได้ตระหนักถึงความผิดพลาดของตนเองที่ละทิ้งควาย ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของชาวนาไป จึงได้รวมกลุ่มกันโดยใช้ชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทยบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2543โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณกระบือให้เพิ่มมากขึ้น อนุรักษ์กระบือไม่ให้สูญพันธุ์ ส่งเสริมการใช้แรงงานจากกระบือเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมให้ใช้มูลโค-กระบือทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และอนุรักษ์ประเพณีเกี่ยวกับควายต่างๆ
ความสามารถในการบริหารและการจัดการ
กลุ่มอนุรักษ์ควายไทยบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ โดยมีความสามารถในการบริหารและจัดการ ดังนี้
- มีคณะกรรมการบริหารกลุ่มฯเพื่อดำเนินการกิจการกลุ่ม จำนวน รวม 11 คน มีวาระ 5 ปี โดย จัดให้มีการประชุมกลุ่มทุกๆ 3 เดือน และสมาชิก สามารถซักถามข้อสงสัยในการบริหารงานของคณะกรรมการ และเสนอแนะแนวทางการบริหาร ตลอดจนเสนอปัญหาในที่ประชุมของกลุ่มได้อย่างอิสระ
- มีระเบียบข้อบังคับกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่จะเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 1 ปี เกษตรกรที่จะเลี้ยงแม่กระบือรุ่นแรกจะต้องส่งคืนลูกกระบือให้กลุ่ม เกษตรกรที่เลี้ยงแม่กระบือ ในรุ่นลูกที่ 1 และรุ่นต่อๆ ไป จะต้องส่งคืนลูกกระบือให้กลุ่มรายละ 1 ตัว กรณีที่ผู้เลี้ยงกระบือ ผิดสัญญากลุ่มจะเรียกคืนกระบือทั้งหมด ฯลฯ
- การให้สมาชิกยืมกระบือไปเลี้ยง จะไม่มีการทำหนังสือสัญญายืม แต่จะดำเนินการในรูป “ สัญญาสัจจะ” กล่าวคือ สมาชิกผู้ยืมกระบือไปเลี้ยงต้องให้คำสัญญาต่อกลุ่มว่าจะดูแลเอาใจใส่กระบือ เป็นอย่างดี โดยจะไม่จำหน่ายกระบือไปก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกลุ่มและหากกระบือเกิดการบาดเจ็บจะต้องรีบแจ้งให้คณะกรรมการทราบก่อนเพื่อดำเนินการรักษาต่อไป
- ถึงเดือนสิงหาคม 2550 กลุ่มสามารถมอบลูกกระบือให้กับสมาชิกรายใหม่ จำนวน 73 ราย
- มีแผนและแนวทางการพัฒนากลุ่ม เช่น ประชาสัมพันธ์คุณค่าของควายไทย ดำเนินกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควายไทย จัดตั้งโรงเรียนสอนการไถนา และส่งเสริมให้สมาชิกใช้ประโยชน์จากมูลกระบือ
บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิก
- สมาชิกมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เช่น การประชุมกลุ่มทุก 3 เดือน สมาชิกทุกคนสามารถกู้เงินจากกลุ่มได้ รวมทั้งสามารถซื้อปัจจัยการผลิตในราคาถูก
- สมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและพัฒนากลุ่ม โดยการร่วมตัดสินใจกำหนดการรับแม่กระบือไปให้สมาชิกเลี้ยงโดยการประชุมตกลงตามมติของที่ประชุม
- สมาชิกเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมความรู้ในด้านการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ควายไทยและสิ่งแวดล้อม
- สมาชิกได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม เช่น การรับเงินปันผลจากกองทุน
ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจ
จากการที่กลุ่มมีคณะกรรมการที่เข้มแข็งและมีการประชุมทำความเข้าใจกับสมาชิกโดยตลอด ทำให้กลุ่มมีกระบือหมุนเวียนของกลุ่ม จำนวน 66 ตัว จากการคืนกระบือจากสมาชิก คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 528,000 บาท เพื่อจะได้ขยายให้กับสมาชิกรายใหม่ต่อไป และจากการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม ปัจจุบันกลุ่มมีเงินทุนสำหรับบริหารจัดการ จำนวน 60,500 บาท
กิจกรรมสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ร่วมปลูกป่าบริเวณวัดในชุมชน จำนวน 8 ไร่ บริจาคกระบือ จำนวน 5 ตัว นำเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้ใน
- กิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น บำรุงศาสนา ทุนการศึกษา เป็นต้น
- อนุรักษ์ให้สมาชิกใช้สมุนไพร มาใช้ในการบำรุงสุขภาพ ถ่ายพยาธิภายในและภายนอก ตลอดจนการรักษาการเจ็บป่วยของกระบือในกลุ่มในกรณีที่เป็นโรคไม่ร้ายแรง
- รณรงค์ให้สมาชิกใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี และให้ใช้น้ำหมักชีวภาพทดแทนการใช้สารไล่แมลงหรือยาฆ่าแมลง พร้อมสร้างจิตสำนึกให้กับลูกหลานเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติด้วย