โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ฯ
หลักการและเหตุผล
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายและแนวทางที่จะพัฒนาการเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิตของประเทศ ให้เกิดความยั่งยืน โดยจัดบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แก่เกษตรกรที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลในรูปแบบบูรณาการส่วนราชการพร้อมไปให้บริการแก่เกษตรกรในด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับชุมชนนั้นๆ เนื่องจากการปฏิบัติงานของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความซับซ้อน มีปัญหาและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการเกษตรมีความหลากหลาย ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ฯลฯ เกินกำลังที่ผู้อำนวยการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลจะดำเนินการได้ครอบคลุม จำเป็นต้องอาศัยนักวิชาการเฉพาะด้านลงไปให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนให้บริการแก่เกษตรกรได้ตรงกับปัญหาและลักษณะพื้นที่ที่เกษตรกรประสบอยู่ จึงจะเกิดประสิทธิภาพในการให้บริการที่รวดเร็วและสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงในระดับตำบล
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เพื่อเป็นหน่วยให้บริการแก่เกษตรกรทางด้านการเกษตร ให้แก่เกษตรกรทุกสาขาทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง โดยมีขอบเขตการให้บริการเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรประสบในพื้นที่และใช้เวลาน้อยในการให้บริการเป็นหลัก ตลอดจนให้ความรู้คำแนะนำและรับปรึกษาปัญหาแก่เกษตรกรตามความต้องการและความจำเป็นของเกษตรกรในพื้นที่ระดับตำบลอย่างพร้อมเพรียง
ในการนี้ กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการจัดทำคลินิกปศุสัตว์ ในโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เพื่อรองรับและสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่แบบบูรณาการที่มีการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่มารับบริการ
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เจ้าหน้าที่พร้อมให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาทางการเกษตร โดยเน้นปัญหาเร่งด่วนที่เกิดในพื้นที่
- เพื่อให้เกษตรกรได้รับการบริการทางการเกษตรตามความต้องการและความเหมาะสมของพื้นที่
เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดๆ รวมทั้งประเทศ จำนวน 21,280 ราย
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานของหนาวยงานที่เกี่ยวข้อง
1. การเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดคลินิก
1.1 คัดเลือกตำบลที่จะเป็นจุดสำหรับการจัดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกจากพื้นที่ที่เกษตรกรประสบปัญหาทางการเกษตรทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง และดิน โดยเฉพาะปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชระบาด โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น ซึ่งต้องการนักวิชาการเฉพาะด้านที่จะให้ความรู้ คำปรึกษา แนะนำ ตลอดจนจัดคลินิกห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ลงไปให้บริการ
1.2 การศึกษาและสำรวจข้อมูลในพื้นที่ ให้คณะทำงานของจังหวัดประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานแต่ละสาขา ศึกษาและสำรวจข้อมูลในพื้นที่จากข้อมูลขั้นต้นที่มีอยู่ เช่นแนวทางพัฒนาการเกษตรระดับตำบล อำเภอ ข้อมูลของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำรวจสภาพพื้นที่จริง สอบถามผู้นำกิจกรรมที่ประกอบอาชีพในตำบล แล้ววิเคราะห์ ประเมิน และสรุปประเด็นปัญหาสำคัญในตำบลแต่ละด้าน และจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
1.3 ประชุมสรุปวางแผนปฏิบัติงาน จากข้อมูลทุติยภูมิ และการสำรวจพื้นที่ นำข้อมูลดังกล่าวมาสังเคราะห์ และจัดกลุ่มปัญหา
- กลุ่มปัญหาที่ต้องการรับบริการความรู้ คำแนะนำ และการสาธิต เช่น จัดนิทรรศการการสาธิตให้ความรู้ด้านพืชและสัตว์ ตลอดจนด้านดิน ปุ๋ยและการอนุรักษ์ ให้เน้นพืช สัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก สำหรับการจัดนิทรรศการควรจัดเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสมในท้องถิ่น การเตรียมการด้านผู้ให้บริการ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้าน อุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องทดลองและการทดสอบที่จะจัดให้มี หน่วยงานรับผิดชอบ ฝ่ายอำนวยการ
- การเตรียมการ ประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรกรที่จะเข้ารับบริการให้เข้าใจวัตถุประสงค์
2. การดำเนินการระหว่างเปิดคลินิก รูปแบบกิจกรรมของคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ
2.1 กิจกรรมหลัก กิจกรรมด้านคลินิก ได้แก่ การให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัย และให้บริการโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ
2.2 กิจกรรมเสริม กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ การฝึกอบรม และจัดนิทรรศการ
- การฝึกอบรม เช่น บัญชีฟาร์ม ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ
- การจัดนิทรรศการ
- การบริการอื่นๆ เช่น การให้คำแนะนำและการปรึกษา การรับทราบปัญหา การพัฒนาแหล่งน้ำ กฎหมายด้านการเกษตร การแนะนำข้อกฎหมายสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( ส.ป.ก.) เป็นต้น
2.3 การให้บริการ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากสภาพปัญหาของเกษตรกรที่มาเข้ารับบริการ และส่งต่อไปยังคลินิกเฉพาะด้านเพื่อให้นักวิชาการที่ประจำยังคลินิกนั้นๆ วินิจฉัยก่อนส่งไปยังคลินิกย่อยหรือคลินิกเฉพาะทาง เพื่อรับบริการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ต่อไป
3. การติดตามประเมินผล
3.1 การประเมินผลด้านบริการ ให้มีการประเมินผลด้านบริการทันทีโดยประเมินจากความพึงพอใจของเกษตรกรที่เข้ารับบริการ เพื่อปรับปรุงบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.2 การประเมินผลด้านวิชาการ โดยศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเป็นศูนย์กลางการประสานงาน แบ่งเป็น
- การสรุปประเมินปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ว่ามีปัญหาทางการเกษตรอะไรบ้าง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
- การติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมว่าปัญหาทางการเกษตรได้รับการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร และต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติม
- การประเมินผลและจัดทำรายงานการปฏิบัติงาน โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ประจำ ทุกปี
4. บทบาทของกรมปศุสัตว์
4.1 จัดบุคลากรหรือนักวิชาการ ประจำคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ
4.2 จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือ สำหรับให้บริการตรวจสอบและวิเคราะห์โรคสัตว์ การฉีดวัคซีนสัตว์ประเภทต่างๆ การผสมเทียม การทำหมันสัตว์ วิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์ ชีวภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดโรคสัตว์
4.3 จัดนิทรรศการ ความรู้ด้านการป้องกันโรคระบาดสัตว์ ควบคุมบำบัดโรคสัตว์ คำแนะนำด้านสุขภาพสัตว์ บำบัดโรคสัตว์ การแปรรูปเนื้อสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ การขยายพันธุ์พืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์การวินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์
4.4 การรายงานผล ขอความร่วมมือให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดดำเนิน ดังนี้
- สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดรายงานผลระดับจังหวัดตามระบบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนด จำนวน 4 ครั้ง
- รายงานตามระบบ TLPS ตามที่กองแผนงาน กรมปศุสัตว์กำหนด
- รายงานผลตามแบบฟอร์มที่แนบท้ายนี้ ส่งสำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ หลังการให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ 7 วัน รวม 4 ครั้ง
4.5 แนวทางการให้บริการ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ ได้รวบรวมสรุปแนวทางการให้บริการดังตารางด้านล่าง ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสรุปแนวทางการให้บริการแก่เกษตรกรและการแก้ไขปัญหาให้ตรงตามประเด็นที่กำหนด เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาของคลินิกปศุสัตว์
อนึ่ง กรณีจัดบริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในวโรกาสที่สำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกจังหวัดที่เหมาะสมเป็นตัวแทนของการจัดงานระดับประเทศ คือ
วันที่ 28 กรกฎาคม วันคล้ายวันพระราชสมภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
วันที่ 9 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา
วันที่ 29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
ซึ่งจะมีการพิจารณาคัดเลือกจังหวัดตัวแทนของภาคในการจัดพิธีอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะแจ้งให้ทราบประมาณหนึ่งเดือนก่อนการจัดงาน ดังนั้น จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละครั้ง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่ได้รับการประสานงานให้เตรียมจัดคลินิกปศุสัตว์และจัดนิทรรศการอย่างสมพระเกียรติด้วย ในช่วงระยะเวลา นั้น จังหวัดอื่นๆ ให้จัดคลินิกเกษตรฯ ตามแบบปกติ
ในแต่ละปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ จำนวน 4 ครั้ง คือ ไตรมาสละหนึ่งครั้ง ดังนี้
ไตรมาสที่ 1 จัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติพระเจ้า วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในวันที่ 9 ธันวาคม โดยกำหนดช่วงเวลาระหว่างวันที่ 9 – 31 ธันวาคม
ไตรมาสที่ 2 กำหนดช่วงเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ตามที่จังหวัดเห็นสมควร
ไตรมาสที่ 3 จัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในวันที่ 29 เมษายน 2555 โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดงานระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 31 พฤษภาคม
ไตรมาสที่ 4 จัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดงานระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจจะได้รับการบริการทางด้านการปศุสัตว์ตามความต้องการของพื้นที่
โครงการบูรณาการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้บริการแก่เกษตรกร ให้ความรู้ คำแนะนำ และรับปรึกษาปัญหาแก่เกษตรกรในพื้นที่ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ร่วมดำเนินการด้านคลินิกปศุสัตว์ โดยมีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเป็นหน่วยงานผู้ปฏิบัติงาน
ปีงบประมาณ |
เกษตรกรเข้ารับบริการคลินิกปศุสัตว์ |
2552 | 40,219 ราย |
2553 | 44,543 ราย |
2554 | 42,221 ราย |