ประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 ในฟาร์มไก่ไข่ ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และต่อมาได้มีการแพร่ระบาดออกไปอย่างต่อเนื่องดังนี้ ปี 2547 พบการระบาดทั้งหมด 783 จุด ปี 2548 พบการระบาดทั้งหมด 110 จุด ปี 2549 การระบาดลดลงเหลือแค่ 2 จุด ปี 2550 พบการระบาดทั้งหมด 4 จุด ปี พ.ศ. 2551 เป็นปีสุดท้ายที่ประเทศไทยเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยพบการระบาดในพื้นที่ 4 ตำบล (จุด) 4 อำเภอ 4 จังหวัด จุดเกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ 1) ฟาร์มไก่เนื้อตำบลพิกุล อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ (23 มกราคม 2551) 2) ไก่พื้นเมืองตำบลสากเหล็ก อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร (25 มกราคม 2551) 3) ไก่พื้นเมืองตำบลทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย (9 พฤศจิกายน 2551) 4) ไก่พื้นเมืองตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี (13 พฤศจิกายน 2551)
ซึ่งปัจจุบัน (วันที่ 8 ตุลาคม 2556) ไม่มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 4 ปี 10เดือนแล้ว นับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551
ในปี 2556 นี้มีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงในสัตว์ปีก เกิดขึ้นใน 4 ทวีป 12 ประเทศทั่วโลก คือ ทวีปเอเชีย(8 ประเทศ) กัมพูชา จีน เนปาล บังคลาเทศ ภูฏาน อินโดนีเซีย(endemic) อินเดีย เกาหลีเหนือ ทวีปแอฟริกา (2 ประเทศ) แอฟริกาใต้ อียิปต์(endemic) ทวีปอเมริกาเหนือ (1 ประเทศ) เม็กซิโก ทวีปยุโรป (1 ประเทศ) อิตาลี โดยพบการระบาดทั้งสิ้นจำนวน 212 ครั้ง การเกิดโรคพบมากที่สุดในประเทศเนปาล (122 ครั้ง %) เม็กซิโก (64 ครั้ง, %) และกัมพูชา (7 ครั้ง, %) ทั้งนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเกิดขึ้น 2 ประเทศ คือ กัมพูชา และ อินโดนีเซีย โดยประเทศกัมพูชามีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกจำนวน 7 ครั้ง และประเทศอินโดนีเซียมีสถานะเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ส่วนการเกิดโรคในคนพบผู้ป่วยด้วยไข้หวัดนกชนิด H5N1(ป่วย 30 เสียชีวิต 19) ใน 2 ทวีป 6 ประเทศ ดังนี้ ทวีปเอเชีย(5 ประเทศ) กัมพูชา(ป่วย 20 เสียชีวิต 11) จีน(ป่วย 2 เสียชีวิต 2) เวียดนาม(ป่วย 2 เสียชีวิต 1) บังคลาเทศ(ป่วย 1 เสียชีวิต 1) อินโดนีเซีย(ป่วย 1 เสียชีวิต 1) ทวีปแอฟริกา (1 ประเทศ) อียิปต์(ป่วย 4 เสียชีวิต 3) รายงานพบผู้ติดเชื้อด้วยไข้หวัดนกชนิด H7N9(ป่วย 135 เสียชีวิต 44) ในทวีปเอเชีย 2 ประเทศ คือ จีน(ป่วย 134 เสียชีวิต 44) และไต้หวัน(ป่วย 1) รายงานพบผู้ติดเชื้อด้วยไข้หวัดนกชนิด H6N1(ป่วย 1) ในทวีปเอเชีย 1 ประเทศ คือ ไต้หวัน(ป่วย 1) และมีรายงานพบผู้ติดเชื้อด้วยไข้หวัดนกชนิดH7N7(ป่วย 3) ในทวีปยุโรป 1 ประเทศ คือ อิตาลี(ป่วย 3)
ทั้งนี้ในประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้น ประเทศกัมพูชามีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัส H5N1 มากที่สุดจำนวน 20 คนโดยในจำนวนนี้เสียชีวิต 11 คน ล่าสุดมีรายงานการพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกชนิด H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 2 ปีจากเมืองตาแก้ว (Takeo) และเด็กหญิงอายุ 5 ปีจากเมืองกำปอต (Kampot) โดยเด็กหญิงจากเมือง กำปอตเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556
ในช่วงฤดูฝน ภูมิอากาศแปรปรวน มีความชื้นสูง ทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียดส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลงสัตว์อ่อนแอลง สัตว์อ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อโรคง่าย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ เช่น โรคไข้หวัดนก และโรคนิวคาสเซิล เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ป่วยตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มาตรการการดูแลสัตว์ปีกของกรมปศุสัตว์ในช่วงฤดูฝนมีดังนี้ คือ มาตรการที่ 1 รณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคมและกรกฎาคม โดยจัดทีมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าตรวจสอบสัตว์ปีกในทุกหมู่บ้าน เพื่อดูอาการสัตว์ปีก หากพบป่วยหรือตายมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดนกจะควบคุมโรคทันที
ตารางแสดงผลการดำเนินงานโครงการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกแบบบูรณาการของประเทศไทย
|
ครั้งที่ 1/2556 |
ครั้งที่ 2/2556 |
||
เป้าหมาย |
ผลการดำเนินงาน |
เป้าหมาย |
ผลการดำเนินงาน |
|
1.การเฝ้าระวังเชิงรุกอาการทางคลินิก |
2,814,463 ราย |
3,805,228 ราย |
2,814,463 ราย |
3,377,356 ราย |
2.การเฝ้าระวังเชิงรุกทางห้องปฏิบัติการ -สัตว์ปีกที่เลี้ยงบริเวณบ้านฯ ในพื้นที่เสี่ยง -เป็ดไล่ทุ่ง |
13,496 ตัวอย่าง 5,400 ตัวอย่าง |
12,895 ตัวอย่าง 7,972 ตัวอย่าง |
7,812 ตัวอย่าง 5,400 ตัวอย่าง |
7,656 ตัวอย่าง 6,480 ตัวอย่าง |
3.การเฝ้าระวังเชิงรุกทางห้องปฏิบัติการในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต |
- |
39 ตัวอย่าง |
- |
42 ตัวอย่าง |
มาตรการที่ 2 กำหนดให้มีการทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงปีละ ๔ ครั้ง ในเดือนมกราคม เมษายน กรกฎาคม และตุลาคมของทุกปี โดยเน้นพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพ นกธรรมชาติอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน โรงฆ่าสัตว์ปีก เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินงานดังนี้ พื้นที่ที่พบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติหรือพื้นที่เสี่ยง จำนวนทั้งสิ้น 2,646,883 แห่ง
มาตรการที่ 3 พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในรูปแบบฟาร์มปิดและฟาร์มมาตรฐาน ฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการที่ 4 ขึ้นทะเบียนเป็ดไล่ทุ่งและจำกัดพื้นที่การเลี้ยงให้อยู่ภายในตำบลหรืออำเภอเดียว พร้อมทั้งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระตรวจทุกฝูง ปีละ ๒ ครั้ง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์ม
มาตรการที่ 5 ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกระหว่างจังหวัดและระหว่างโซน ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 5 โซน มีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด
มาตรการที่ 6 เนื่องจากพบการเกิดโรคระบาดในสัตว์ปีกในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรมปศุสัตว์จึงมีมาตรการเข้มงวดที่จะดำเนินการในจังหวัดที่มีชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน 27 จังหวัด ดังนี้คือ - ดำเนินการให้มีฟาร์มปรับระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ในตำบลชายแดน 323 ตำบล โดยร้อยละ100 ของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ต้องได้รับการปรับระบบการเลี้ยง
- ดำเนินการการทำวัคซีนในสัตว์ปีก โดยอำเภอที่มีชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน 111 อำเภอ ร้อยละ100 ของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ต้องได้รับการทำวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล
- การควบคุมเคลื่อนย้าย ให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันที และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก
- ให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรเพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ด้านป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และค้นหาสัตว์ป่วย หรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาด โดยหากตรวจพบการเกิดโรคให้ดำเนินการควบคุมโรคทันที
ทั้งนี้ ในส่วนของตัวเกษตรกรนั้นต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรมที่กำหนด เน้นการจัดการโรงเรือน และคอกเลี้ยงสัตว์ที่ดี สามารถป้องกันฝนและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ ควบคุมการเข้า-ออกของคน สิ่งของ และยานพาหนะไม่ให้นำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม หรือโรงเรือนได้ อีกทั้งมีการทำลายเชื้อโรคอย่างถูกวิธี จัดเตรียมน้ำ อาหาร ยาเวชภัณฑ์ให้พร้อม รวมถึงอาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์ให้เพียงพอ หากจะนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในฝูงควรตรวจสอบประวัติ และผ่านการทดสอบโรคก่อนเพื่อป้องกันโรคติดต่อสู่ฝูงสัตว์เดิม
********************************
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เรียบเรียง : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ