กรมปศุสัตว์จัดประชุมมอบนโยบายสำคัญหัวหน้าส่วนราชการกรมปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ 2555 ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2555 โดยมี นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมมอบนโยบาย “ก้าวต่อไปของการพัฒนาศักยภาพการปศุสัตว์” ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2555 ณ ห้องคอนแวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ภารกิจของกรมปศุสัตว์นั้น อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่ว่า “เป็นองค์กรนำการปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก” ซึ่งประกอบด้วย 4 พันธกิจ คือ วิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาโรคสัตว์ กำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้งยังมีนโยบายการทำงาน 3 ความสุข ได้แก่ สร้างความสุขความพึงพอใจแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สร้างความสุขแก่บุคลากรทุกคน ทุกฝ่าย และสร้างความสงบสุข ความรัก สามัคคี ปรองดองให้เกิดในกรมปศุสัตว์ สังคม และประเทศชาติ ส่วนแผนงานของกรมปศุสัตว์ในปีงบประมาณ 2555 นั้น ประกอบด้วย 4 ผลผลิต ได้แก่ พัฒนาการผลิตปศุสัตว์ พัฒนาสุขภาพสัตว์ สินค้าเกษตรมีคุณภาพ และเกษตรกรได้รับการส่งเสริม และอีก 1 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมอาชีพจังหวัดชายแดนใต้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง นโยบายด้านสุขภาพสัตว์ ว่า จะมีการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) เพื่อให้สัตว์มีหลักฐานแสดงประวัติที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับระบบความปลอดภัยสินค้าปศุสัตว์ได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในอาเซียนด้านปศุสัตว์ รวมถึงระบบ NID ระบบการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ (e-movement) ต้องพัฒนาเชื่อมต่อกับระบบ NID ให้ได้
นอกจากนี้ จะให้ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ เข้าใจในระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์ที่ต้องพัฒนาเข้าสู่สากล ส่วนปศุสัตว์ตำบลนั้น จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเห็นถึงประโยชน์ที่คุ้มค่าของการมีปศุสัตว์ตำบล และดำเนินการจ้างหรือกำหนดอัตราของท้องถิ่นเอง โดยปศุสัตว์ตำบลต้องทำงานทุกงานของกรมฯ ที่ลงถึงท้องถิ่น ทุกกอง/สำนักต้องมีส่วนในการสนับสนุนงบประมาณ และติดตามงาน
ในเรื่องด่านกักกันสัตว์ กรมฯ ให้ความสำคัญกับด่านกักกันสัตว์เป็นพิเศษ เนื่องจากประสิทธิภาพของด่านฯ ทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับการพัฒนาด้านปศุสัตว์ของประเทศ ให้เพิ่มความเข้มงวดสูงสุดในการป้องกันโรคระบาดเข้าประเทศ ทั้งชายแดนและระหว่างประเทศอื่นๆ และพัฒนาคุณภาพการตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์ทุกชนิดทั้งนำเข้า-ส่งออกให้ได้มาตรฐาน รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ด้านหน่วยควบคุมโรคระบาด จะจัดตั้งหน่วยควบคุมโรคระบาดสัตว์ขึ้น 11 หน่วย ให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ นโยบายด้านการผลิตสัตว์ เป็นการพัฒนาการผลิตสัตว์ โดยให้มีฟาร์มเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการผลิตสัตว์พันธุ์ดีให้เพียงพอ และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน/เงินทุนหมุนเวียนสำหรับผลิตสัตว์ เพื่อจำหน่าย ให้มีคลังเสบียงสัตว์สำรองประจำตำบล มีการผลิตหญ้าแห้งเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ จัดทำโครงการศึกษาพัฒนาอาหารสัตว์ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจัดทำโครงการเร่งรัดผลิตโคเนื้อคุณภาพ 50,000 ตัว (Flagship Project)
ซึ่งการพัฒนาด้านการผลิตสัตว์นั้น ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้นโยบายด้านมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ คือ มาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์ โดยเร่งรัดโรงฆ่าสัตว์ที่ยื่นขอรับใบอนุญาตฯ(ฆสจ.1) ให้ได้ใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ (ฆสจ.2) เขียงสะอาด โดยจัดให้มีสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาด(เขียงสะอาด) ทุกอำเภอ ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์และผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ฝ่าฝืน กฎหมาย และประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อกำกับดูแลโรง ชำแหละเนื้อสัตว์ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
รวมทั้งดำเนินการเรื่องสารเร่งเนื้อแดง มาตรฐานฟาร์ม สารตกค้าง ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค นโยบายด้านส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ ประกอบ ด้วย การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรายย่อย เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาระบบการผลิตและการตลาด โดยพัฒนาระบบการผลิตที่สอดคล้องกับศักยภาพในแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงผลผลิตรายชนิดปศุสัตว์กับตลาดอย่างเป็นระบบ เตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
รวมถึงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ซึ่ง การจัดการภัยพิบัติด้านปศุสัตว์นั้น แยกเป็นก่อนเกิดภัย คือ เตรียมความพร้อม (วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดภัยในพื้นที่ จัดเตรียมสถานที่อพยพสัตว์ระดับหมู่บ้าน/ตำบล แหล่งเสบียงสัตว์ จัดหาแหล่งน้ำ/การขนส่งน้ำ) ซักซ้อมแผน แจ้งเตือนภัย และให้ข้อมูลที่สำคัญแก่เกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุ ในขณะเกิดภัย ซึ่งกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานเดียวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องเข้าไป ช่วยเหลือสัตว์ในขณะเกิดภัย โดยการดูแลสุขภาพสัตว์ อพยพสัตว์ ป้องกันควบคุมโรคระบาดสัตว์ สนับสนุนเสบียงสัตว์ ให้ของบภัยพิบัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดทันที หากงบผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เพียงพอให้เสนอเรื่องถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 50 ล้านบาท และให้ประเมินผลกระทบ โดยต้องกำหนดคำจำกัดความของ ”สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ” ให้ชัดเจน เพื่อประเมินค่าชดเชยให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง และหลังเกิดภัย จะต้องฟื้นฟูด้านสุขภาพสัตว์ ด้านอาหารสัตว์ และอาชีพ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์รายสินค้าปศุสัตว์ อาทิ โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ โคนม สุกร สัตว์ปีก ว่า ต้องเกาะติดสถานการณ์ เพื่อเข้าถึงปัญหาก่อนหน่วยงานอื่น หาแนวทางป้องกันแก้ไขก่อนที่จะเกิดปัญหาในวงกว้าง เช่น โคเนื้อจะหมดประเทศ แพะหาไม่ได้ น้ำนมล้นตลาด รวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยไม่ได้ ไข่แพง ไข่ถูก หมูแพง หมูถูก ผลักดันส่งออกใครรับผิดชอบ เป็นต้น
ส่วนงานที่สำคัญๆ ในปี 2555 ได้แก่ งานครบรอบ 70 ปี กรมปศุสัตว์ (5 พฤษภาคม 2555) ซึ่งจะจัดกิจกรรมมากมาย คือ ช่วงเช้าทำบุญตักบาตรที่กรมปศุสัตว์ ราชเทวี และเดินทางไปพุทธมณฑล เวลา 09.30 น.เพื่อ ทำพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ มีพิธีมอบรางวัลต่างๆ อาทิ ข้าราชการดีเด่น หน่วยงานใสสะอาด เกษตรกร/อาสาปศุสัตว์/ปศุสัตว์ตำบลดีเด่น ฯลฯ กิจกรรมแจกพันธุ์พืชอาหารสัตว์ บริการด้านสุขภาพสัตว์ จำหน่ายหนังสือ “7 ทศวรรษ กรมปศุสัตว์” และจัดซุ้มอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงาน รวมทั้งจัดหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีด้วย
นอกจากนี้ จะมีการจัดการประชุม FMD Global Conference 2012 ในระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมพลาซ่า แอททินี กรุงเทพฯ เพื่อให้ประเทศสมาชิก FAO และ OIE ได้ประชุมเชิงวิชาการและวางนโยบายการควบคุมโรค FMD ในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 700 คน จาก 178 ประเทศ โดยแบ่งเป็นระดับรัฐมนตรี 40 คน ผู้แทนประเทศสมาชิก 350 คน ผู้แทนประเทศไทย 350 คน
และในระหว่างวันที่ 15-30 มีนาคม 2555 จะมีการประชุมการประเมินสมรรถนะด้านสัตวแพทย์บริการ (Performance of Veterinary Services: PVS) เพื่อเป็นสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานสัตวแพทย์บริการของประเทศสมาชิก OIE ให้ได้ระดับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่ง OIE จะส่งผู้เชี่ยวชาญ 3 คน มาตรวจประเมิน 4 องค์ประกอบหลัก คือ Human and Financial Resources , Technical Autority and Capability , Interaction with Stakeholders และ Access to Markets ด้วย อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด
…………………………………………………………………..
ข้อมูล : กองแผนงาน/กองการเจ้าหน้าที่ ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์