เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพโคนมทั่วประเทศ (47/2555)

อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งระดมสัตวแพทย์ลุยตรวจสุขภาพโคนมทั่วประเทศ พร้อมทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ขึ้นทะเบียนสัตว์ เพื่อกำจัดโรควัณโรคในโค และโรคแท้งติดต่อ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคน้ำนม และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคผ่านทางน้ำนม

 

          นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีโครงการรณรงค์ตรวจสุขภาพโคนมทั่วประเทศ และทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดโรควัณโรคในโค และโรคแท้งติดต่อ พร้อมทั้งเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพฟาร์มโคนมให้ได้มาตรฐาน และรับรองสถานภาพฟาร์มปลอดโรคทูเบอร์คูโลซิส (โรควัณโรคในโค)และ บรูเซลโลสิส (โรคแท้งติดต่อ) ในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคน้ำนม และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคผ่านทางน้ำนม รวมทั้งลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสัตว์และเกษตรกร ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมมากที่สุดของประเทศไทย โดยระดมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพโคนมกว่า 100,000 ตัว ระหว่างวันที่ 25 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ 2555  

          อาชีพ การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการนมของตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้หน่วยงานราชการและเอกชนยังได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนอาชีพการ เลี้ยงโคนมอย่างจริงจังตลอดมา กรมปศุสัตว์จึงเล็งเห็นความสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิตน้ำนม โดยเน้นการควบคุม และกำจัดโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่สำคัญ เช่น โรคทูเบอร์คูโลซิส หรือโรควัณโรคในโค และโรคบรูเซลโลสิส หรือโรคแท้งติดต่อ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภค  

            โรคทูเบอร์คูโลซิส หรือโรควัณโรคในโค เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้สัตว์ป่วยแบบเรื้อรัง สุขภาพอ่อนแอ ผอม น้ำหนักลด และตายในที่สุด โรควัณโรคโคสามารถติดต่อสู่คนได้หลายทาง เช่น ทางลมหายใจ การบริโภคน้ำนมสัตว์ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอถี่และรุนแรง มีเสมหะปนเลือด หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ในรายที่ป่วยรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนโรคบรูเซลโลสิส หรือโรคแท้งติดต่อ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้สัตว์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์  ในโคเพศผู้ พบว่าอัณฑะบวม อักเสบ อาจรุนแรงทำให้เป็นหมันได้ โคเพศเมียที่ตั้งท้อง จะแท้ง รกค้าง มดลูกอักเสบ กรณีป่วยเรื้อรังทำให้ผสมไม่ติด ในโคนมที่ติดเชื้อจะทำให้น้ำนมลด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค  เต้านมอักเสบ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำนมลดลง และที่สำคัญโรคนี้ยังสามารถติดต่อสู่คนได้ โดยการบริโภคเนื้อ หรือน้ำนมจากสัตว์ที่เป็นโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อและข้อ

           ท้าย นี้หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง หรือ    ส่วนโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์  โทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 4121-2 หรือ 08-5660-9906

                                                .........................................................

ข้อมูล/ข่าว : ส่วนโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ