การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2555 ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ว่า สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ (เลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ) คือ นายซิมโอน ปัญญา อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 253 หมู่ที่ 10 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดชียงใหม่
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ว่า เดิมนายซิมโอนฯ มีอาชีพขับรถรับจ้างประจำทางในเชียงใหม่ แต่ด้วยต้นทุนและค่าครองชีพสูงจึงหันเหชีวิตมาทำเกษตร โดยเริ่มจากเลี้ยงสุกรและไก่แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้สมัครเข้ารับการอบรม การเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ 1 ของกรมปศุสัตว์ เมื่อผ่านการอบรมจึงเริ่มเลี้ยงไก่พันธุ์ประดู่หางดำ จำนวน 12 ตัว(เพศผู้ 2 ตัวเพศเมีย 10 ตัว) ด้วยความที่คุณซิมโอนเป็นคนช่างสังเกต อดทน ขยันหมั่นเพียรและไขว่คว้าหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ จนเข้าใจกระบวนการและขั้นตอนการเลี้ยงไก่พันธุ์ การผลิตลูกไก่ การขุนไก่ อย่างชัดเจนทั้งระบบ จึงได้พัฒนาการเลี้ยงโดยวางแผนการเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์ การผลิตลูกไก่ให้ออกมาในช่วงเวลาที่ต้องการได้ ทั้งยังมีระบบการจัดการภายในฟาร์มเป็นสัดส่วน อาทิ โรงเรือนพ่อแม่พันธุ์ โรงเรือนอนุบาลลูกไก่แรกเกิด โรงเรือนตู้ฟัก ฯลฯ ปัจจุบันมีไก่ 1,800 ตัว เป็นพ่อพันธุ์ 150 ตัว แม่พันธุ์ 900 ตัว และลูกไก่ขุน 750 ตัว สามารถผลิตลูกไก่ได้ 8,000 – 10,000 ตัว/เดือน สามารถขยายการผลิตโดยสร้างเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในภาคเหนือ ทั้งยังเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้า เชื่อมโยงตลาด นายซิมโอนฯ ยังคงประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสานและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืชผักผลไม้เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน เหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว
ผลงานและความสำเร็จของงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ นายซิมโอนฯ มีการพัฒนาการเลี้ยงไก่ตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องมาโดยตลอด ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลและเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้สามารถขยายตลาดผู้บริโภคและมีเครือข่ายการผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีระบบการจัดการฟาร์ม ผลงานความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืนอาชีพ คือ พันธุ์ มีเทคนิคและวิธีการในการคัดเลือกแม่พันธุ์ที่ดี แข็งแรงสมบูรณ์ และมีการปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ทำให้ลูกไก่มีความสมบูรณ์ เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตดี เมื่อนำไปเลี้ยงเพื่อขุนจะได้น้ำหนักดีและจำหน่ายได้ราคาสูงเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่จะนำไปเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริม อาหาร เน้นวัตถุดิบอาหารภายในชุมชน เช่น ต้นกล้วย มะละกอ ต้นถั่วฝักยาว มันสำปะหลัง ต้นใบบอน ร่วมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อจัดทำเป็นสูตรอาหารสำหรับไก่พันธ์ ประดู่หางดำ โดยคำนึงถึงการเจริญเติบโตแบบมีประสิทธิภาพร่วมกับการประหยัดอาหารด้วยการเสริมด้วยหญ้าสด เพื่อเพิ่มวิตามิน และเพื่อช่วยคลายความเครียดให้กับไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับการเดินออกกำลังกายภายในฟาร์มเพื่อให้ไก่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง การป้องกันโรค เน้นการสุขาภิบาลที่ดีและมีการทำวัคซีนป้องกันโรคของสัตว์ปีกในทุกระยะที่กำหนด อาทิ วัคซีนอหิวาต์ นิวคาสเซิล หลอดลมอักเสบ ยาถ่ายพยาธิภายนอกภายใน และเสริมวิตามินต่างๆ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและปราศจากโรคของไก่พื้นเมือง มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกโดยการ SWAB เพื่อส่งตรวจห้องปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีการเก็บซีรั่มในเลือดเพื่อเฝ้าระวังโรคนิวคลาสเซิลอีกด้วย การจัดการฟาร์ม มีระบบการเลี้ยงและปรับปรุงตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกัน ประกอบด้วย โรงเรือนไก่พ่อแม่พันธุ์ โรงเรือนไก่อนุบาล โรงเรือนไก่ขุน โรงเรือนตู้ฟักไข่ ทั้งนี้ แต่ละโรงเรือนจะมีการจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าโรงเรือนทุกครั้ง มีรั้วรอบขอบชิดตามมาตรฐานฟาร์มฯ รวมทั้งมีการปลูกต้นไม้ภายในฟาร์มเพื่อสร้างความร่มรื่นและลดอุณหภูมิความร้อนภายในฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ในการจัดการผลิต เช่น ตู้ฟักไข่ราคาถูก การตลาด มีการจำหน่ายลูกไก่ให้สมาชิกที่เป็นกลุ่มเครือข่าย กลุ่มเกษตรกรที่สนใจและร้านค้าต่างๆ ซึ่งต้องมีการจองล่วงหน้า โดยตลาดครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในภาคเหนือ ทั้งที่เป็นตลาดสดและร้านอาหาร รวมทั้งพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและสร้างช่องทางสู่การจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่สำคัญในพื้นที่
นายซิมโอนฯ เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำและเสียสละในชุมชนซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการสร้างรากฐานหรือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนได้สร้างเครือข่ายการเลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่1 ทั้งภายในและภายนอกจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุม 10 กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคเหนือ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของกรมปศุสัตว์เพื่ออบรมความรู้และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้แก่เกษตรกร นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ มอบพันธุ์ไก่พื้นเมืองให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่มีทุนในการผลิตหรือที่ประสบอุทกภัยธรรมชาติ สถาบันและโรงเรียนที่ต้องการนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย เป็นสถานที่ฝึกงานตามหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นวิทยากรเพื่อเผยแพร่ความรู้และเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งในด้านการเลี้ยงไก่ การรวมกลุ่มการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์และการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และอาหารกลางวันในชุมชน เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน อาทิ ด้านการพัฒนาเด็กเล็ก สหกรณ์ออมทรัพย์ กรรมการศึกษาพื้นฐานและกรรมการกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ
“แนวคิดและหลักปฏิบัติฯ มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อลดต้นทุนต่างๆ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ เครื่องกกลูกไก่ เครื่องส่องไข่ ฯลฯ นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ร่วมกับอาหารสำเร็จรูปเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต นำมูลไก่มาทำปุ๋ยใส่แปลงหญ้าที่ปลูกไว้เป็นอาหารของไก่พันธุ์และใส่ต้นไม้พืชผักสวนครัว ที่ปลูกในบริเวณฟาร์ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและมีอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งยังนำมูลที่เหลือไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และใช้น้ำหมักพืชสมุนไพรทดแทนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ทำจากสารเคมีในการทำความสะอาดโรงเรือนและใช้น้ำตะไคร้หอมพ่นภายในโรงเรือนเพื่อระงับไม่ให้ส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านและชุมชนใกล้เคียง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์ชังบูรณาการ โทร. 0 – 2653 – 4477” อธิบดีกล่าว
*********************************************
ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์เชิงบูรณาการ สสส. กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์