เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์เผยผลการประชุมทวิภาคีด่านกักกันสัตว์ ไทย-ลาว ครั้งที่ 2 และการประชุมร่วมคณะกรรมการพัฒนาปศ

เมื่อวันที่ 24 – 26 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคีด่านกักกันสัตว์ ไทย-ลาว ครั้งที่ 2 และการประชุมร่วมคณะกรรมการพัฒนาปศุสัตว์ ไทย –ลาว ครั้งที่ 9 ณ โรงแรมสุริวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดย ดร.บุญขวาง    คำบุญเฮือง อธิบดีกรมเลี้ยงสัตว์และการประมง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเดินทางมาเข้าร่วมประชุมพร้อมผู้แทนจากหลายหน่วยงานของกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว จำนวนรวม ๑๐ ท่าน โดยผลจากการประชุมก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือความร่วมมือทั้งด้านสุขภาพสัตว์และด้านการผลิตสัตว์ในหลายด้าน

 อาทิเช่น

๑.        กำหนดให้ชี้แจงถึงแหล่งที่มาของสัตว์ กรณี สปป.ลาว นำเข้าพันธุ์สัตว์จากประเทศไทย

๒.        ขอให้ฝ่ายไทยช่วยสนับสนุนการพัฒนาด่านช่องเม็ก – วังเต่า

๓.        การดำเนินการในเรื่องใบอนุญาตการนำเข้าสัตว์ (Import permit ) และใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Veterinary Health Certification)

๔.        สปป.ลาว รับที่จะผลักดันประเด็นการอำนวยความสะดวกนำผ่านสัตว์มีชีวิต เช่น โค กระบือ จากไทย ผ่านลาวไปยังเวียดนาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการต่อไป

๕.        การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารระดับสูงตามความจําเปน และการแลกเปลี่ยนโครงการทัศนศึกษาด้านสุขภาพสัตว์ในหัวข้อที่ฝ่ายไทยและสปป.ลาวเห็นชอบร่วมกัน สำหรับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและระดับภูมิภาครวมทั้งผู้ประกอบการด้วย

๖.        ที่ประชุมเห็นชอบให้ยังคงมีการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญไทยและการจัดการฝึกอบรมระยะสั้น ดังนี้

สาขาสุขภาพสัตว์ ใน 4 สาขา ดังนี้

สาขาการควบคุมโรคระบาดสัตว์ สาขาระบาดวิทยา สาขาควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และสาขาผลิตชีวภัณฑ์และการควบคุมคุณภาพชีวภัณฑ์ ทั้งนี้ สปป.ลาว มีความประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือจากไทยในเรื่อง การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Assessment) และสนับสนุนการฝึกอบรมระยะสั้นในหลักสูตร การตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ หลักสูตรพยาธิวิทยา หลักสูตรพิษวิทยา และหลักสูตรการผลิตวัคซีน แก่ สปป.ลาว โดย สปป.ลาวได้เสนอให้เพิ่มการฝึกอบรมในหลักสูตรการจัดการด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ ระดับ 3 (BSL-3) 

สาขาการผลิตสัตว์ ใน 4 สาขา ดังนี้

สาขาปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์ ผสมเทียม และการจัดการฟาร์ม รวมทั้งการฝึกอบรมระยะสั้น 3 หลักสูตร   คือ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์และการผสมเทียม อาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์ และหลักสูตรการจัดการฟาร์ม โดย กรมปศุสัตว์ กำหนดจัดฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการอาหารโคเนื้อ ให้แก่ประเทศสมาชิก ACMECS คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และประเทศไทย ประเทศละ 2 ราย ในระหว่างวันที่ 4 – 8 มิถุนายน 2555 นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – ลาว กรอบ ACF กรมปศุสัตว์ โดยสำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กำหนดจัดการฝึกอบรมการเลี้ยงโคเนื้อ ในระหว่างวันที่ 18 - 22 มิถุนายน 2555 ณ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 ให้แก่เจ้าหน้าที่ สปป.ลาว รวมทั้งสิ้น 20 ราย และในปี 2556 กำหนดจัดการฝึกอบรมใน    2 หลักสูตร ได้แก่ ด้านการผสมเทียม และการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์

๗.        ฝ่ายไทยได้นำเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้

สาขาสุขภาพสัตว์ ได้แก่

โครงการศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดสัตว์ตามแนวชายแดน และโครงการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการ และเห็นชอบให้พัฒนารายละเอียดโครงการ    พร้อมทั้งพิจารณาในการขยายพื้นที่ลงมาบริเวณเขตท่องเที่ยว เช่น แขวงหลวงพระบาง หรือแขวงอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์ของ สปป.ลาว ด้วย

สาขาการผลิตสัตว์ ได้แก่

โครงการจัดทำระบบฟาร์มสุกรรายย่อยแบบยั่งยืน และโครงการพ่อกระบือพันธุ์ดีประจำหมู่บ้าน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะดำเนินการ และให้จัดทำรายละเอียดร่วมกันในการกำหนดพื้นที่และแนวทางการดำเนินงาน   โดยให้ สปป.ลาวส่งข้อเสนอโครงการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการ ไทย-ลาว ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดการประชุมทวิภาคีด่านกักกันสัตว์ ลาว-ไทยเป็นการประชุมต่อเนื่องกับการประชุมการประชุมร่วมคณะกรรมการพัฒนาปศุสัตว์ไทย –ลาว โดยจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งการจัดประชุมร่วมคณะกรรมการพัฒนาปศุสัตว์ลาว-ไทย ครั้งต่อไปคือครั้งที่ 10 กำหนดจัด ณ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ในปี 2556

 

******************************************

 

ข้อมูล : กองปศุสัตว์ต่างประเทศ                                                                                                ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์