เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

ปศุสัตว์ชี้แจงมาตรฐานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ (110/55)

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2555 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรอง-มาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาชี้แจงมาตรฐานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ สำหรับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ประจำปี 2555 ณ โรงแรมวรบุรีอโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

           นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายอาหารปลอดภัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหารตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค เป็นการยกระดับมาตรฐานการบริโภคของประชาชน รวมถึงมาตรฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งในในหลายๆ องค์กรของรัฐบาลที่มีหน้าที่ผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย“ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของรัฐบาล ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพ ปราศจากโรคระบาดสัตว์และโรคสัตว์ติดคน จนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มีมาตรฐาน เหมาะสมแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศ และมีคุณภาพดีสามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สร้างมูลค่าและนำรายได้แก่ประเทศไทยถึงปีละ 60,000 ล้านบาท

                 ในอดีตที่ผ่านมาการดำเนินการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ ได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้วางรากฐานการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ภายหลังที่ได้ถ่ายโอนให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กำกับดูแลเมื่อปี 2545 กรมปศุสัตว์ได้พยายามต่อยอดการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการให้เหมาะสมต่อสภาวะการบริโภคภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคของเรากำลังเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 ความร่วมมือภายใต้อาเซียนแบ่งออกเป็น 3 ด้าน หรือ 3 เสาหลัก (Pillar) ได้แก่ 1. ด้านการเมืองและความมั่นคง มุ่งให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีกรอบความร่วมมือในการรับมือกับความคุกคามความมั่นคง 2. ด้านเศรษฐกิจ มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ มีข้อตกลงกันว่าจะลดภาษีเป็นศูนย์ เพื่อให้เป็นตลาดการค้าเสรีในภูมิภาค ให้มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างเสรี และ 3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดสังคมเอื้ออาทรในกลุ่มประเทศอาเซียนมีสวัสดิการทางสังคมที่ดี การเป็นประชาคมอาเซียนนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศอื่นก็สามารถนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศเราได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์หลายชนิดนั้น ในประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าปศุสัตว์ที่ต่ำกว่ามาแข่งกับสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ของเราจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ในราคาที่ต่ำกว่าในประเทศ โดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์และกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้ทัดเทียมหรือสูงกว่าคู่แข่งขันทางการค้า

                 อย่างไรก็ดี การพัฒนาและปรับปรุงการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งยังมีโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านการรับรองการตั้งโรงฆ่าสัตว์จากกรมปศุสัตว์   ประเด็นปัญหาที่สำคัญอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลนโยบายในการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ประกอบการยังมีความเข้าใจแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ไม่ตรงกัน นอกจากนี้ปัญหาและข้อจำกัดในการปรับปรุงพัฒนาโรงฆ่าสัตว์แต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกัน ทำให้กระบวนการพัฒนาและปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์จำเป็นที่จะต้องได้รับการพูดคุย แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ประสบการณ์ เพื่อนำเอาจุดแข็งของแต่ละส่วนมาปรับใช้ในการดำเนินงาน และนำเอาจุดอ่อนมาปรับแก้ไขมิให้เป็นอุปสรรค และผลลัพธ์ที่ได้ก็จะทำให้การดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตรงตามนโยบายของรัฐบาล

อีกกระบวนงานหนึ่งที่สำคัญ คือการพัฒนาสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการโครงการรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ในชื่อว่า “สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาด” หรือ “เขียงสะอาด” เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรองของกรมปศุสัตว์ สามารถทราบแหล่งที่มาว่ามาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย และมีการผลิตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงการกำกับดูแลโรงชำแหละเนื้อสัตว์ปีกและโรงขูดเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นในการสำรวจและให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ โรงชำแหละเนื้อสัตว์และโรงขูดเนื้อสัตว์ปีกดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์เป็นเรื่องที่ยาก และท้าทายต่อผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดหากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ในการช่วยปรับปรุงพัฒนามาตรฐานโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้มุ่งเน้นที่จะผลักดันนโยบายการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จึงได้จัดทำโครงการประชุมสัมมนาชี้แจงเรื่องมาตรฐานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ สำหรับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ประจำปี 2555 ขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ แนวทางการดำเนินงาน ปัญหาที่พบ และแนวทางแก้ไขปัญหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศและสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ และมีความเข้าใจบทบาทของตนเองในการกำกับดูแลโรงฆ่าสัตว์อย่างถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

---------------------------------

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น.ส.จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์