เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

ระวังโค กระบือเป็นโรคท้องอืดในช่วงฤดูฝน (119/2555)

กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรอย่าให้โค กระบือ กินหญ้าอ่อนมากเกินไป อาจทำให้ท้องอืด หากรักษาไม่ทันอาจทำให้สัตว์ตายได้

          นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนภัยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ว่า ในช่วงฤดูฝน โค กระบือ อาจกินหญ้าอ่อนเป็นปริมาณมาก ให้สัตว์มีอาการท้องอืดได้ และเกษตรกรจะต้องหมั่นสังเกตสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สัตว์มีสุขภาพอ่อนแอ อาจเจ็บป่วยได้ง่าย

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคที่จะเกิดในสัตว์ประจำในช่วงนี้ จะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ปอดบวม และมักมีโรคท้องอืดในสัตว์ใหญ่ได้ เนื่องจากในช่วงต้นฤดูฝนต้นหญ้าอาหารสัตว์เริ่มแตกใบอ่อน มีรสชาติน่ากิน ทำให้สัตว์กินพืชหญ้าสดในช่วงนี้มากกว่าปกติ อาจทำให้ท้องอืดได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ควรตัดหญ้าอ่อนให้สัตว์กินมากเกินไป ควรเตรียมอาหารให้กินอย่างพอเพียง ให้อยู่แต่ในคอกที่มีโรงเรือน มีหลังคาสำหรับกันแดดและฝน ต้องดูแลรักษาพื้นคอกให้สะอาด แห้ง นอกจากนี้ ควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย ตรงตามกำหนดเวลา ถ่ายพยาธิเป็นประจำเพื่อให้ร่างการแข็งแรง อย่างน้อยปีละ 1 –2 ครั้ง เมื่อมีสัตว์ป่วยต้องแยกสัตว์ออกจากฝูงทันที เพื่อป้องกันสัตว์ตัวอื่นเจ็บป่วยตามไปด้วย

         การแก้ไขอาการท้องอืด เพื่อให้แก๊สระบายออก อาจโดยกรอกน้ำมันพืช พาสัตว์จูงเดิน หรือหากมีอาการมาก ให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน เนื่องจากในบางครั้งอาจต้องให้สัตวแพทย์เจาะกระเพาะเพื่อระบายแก๊สออก เพราะหากรักษาไม่ทันอาจทำให้สัตว์ตายได้

         วิธีป้องกัน คือ จำกัดพื้นที่ของโค กระบือ ไม่ให้กินหญ้าอ่อนมากเกินไป หรือกักสัตว์ไว้ให้กินหญ้าแห้ง ฟางแห้ง หรือหญ้าสด ที่ไม่อ่อนเกินไปจนใกล้อิ่ม แล้วจึงปล่อยออกแทะเล็มในแปลงตามปกติ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในท้ายที่สุด

---------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์                                  

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล   กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์