เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์ยืนยัน โอกาสเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในกระต่ายน้อยมาก (125/2555)

กรมปศุสัตว์เตือนประชาชนอย่าตระหนกข่าวกระต่ายเป็นพิษสุนัขบ้า ยืนยันโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก เลี้ยงสุนัข แมวไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า

 

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีรายงานพบกระต่ายเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและกัดเจ้าของเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนกนั้น ขณะนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการสอบสวนหาที่มาของการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าของกระต่ายในครั้งนี้เพื่อจะได้ควบคุมและกำจัดแหล่งที่มาของโรค ต่อไป

 

                            ทั้งนี้ ขอแจ้งให้ทราบว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเกิดได้ในสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ค้างคาว และสัตว์ป่า รวมถึงคน ขึ้นกับโอกาสที่จะได้รับเชื้อและการเลี้ยงดู ประเทศไทยและประเทศในเอเชียพบมากในสุนัข แมว จากสถิติในประเทศไทยพบว่าโรคพิษสุนัขบ้ากว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์พบในสุนัข และประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์ พบในแมวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขและแมวจรจัดมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคนี้

 

การเกิดโรคในกระต่ายที่เลี้ยงนั้นโอกาสที่จะพบได้น้อยมากเพราะโอกาสที่จะสัมผัสโรคต่ำ อาจเกิดจากถูกสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู หรือแมว หรือสุนัข ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกระต่ายและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต หากผู้เลี้ยงไม่มั่นใจว่าจะป้องกันการสัมผัสกับสัตว์พาหะนำโรคได้ ให้ป้องกันโรคโดยการนำกระต่ายหรือสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ตั้งแต่อายุ ๓ เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตวแพทย์ โดยให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ ๒ ห่างจากเข็มแรก ๑ เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดป้องกันทุกปีๆละ ๑ ครั้ง

 

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะซื้อกระต่ายมาเลี้ยง ขอให้เลือกซื้อจากร้านค้าหรือฟาร์มเลี้ยงกระต่ายที่สะอาด มีหลักสุขอนามัยที่ดี เมื่อซื้อมาแล้วระยะแรกควรเลี้ยงในกรง จับสัตว์ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ถูกกัด ไม่ควรสัมผัสใกล้ชิด เป็นเวลาอย่างน้อย ๒ เดือน เพื่อสังเกตอาการ หากพบอาการผิดปกติ เช่น เป็นไข้ตัวร้อน น้ำลายไหลยืด ขากรรไกรค้าง ก้าวร้าว อารมณ์เปลี่ยนแปลง ดุร้าย เป็นอัมพาต ให้รีบแจ้งสำนักงานปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ ๐-๒๔๓๓-๓๐๑๗ ถึง ๙ หรือที่กรมปศุสัตว์ โทร ๐-๒๖๕๓-๔๔๔๔ ต่อ ๔๑๖๒ หรือแจ้งที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หากถูกสัตว์ที่เลี้ยงไว้กัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หลายๆครั้ง และทาแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน หรือเบตาดีน หรือแอลกอฮอล์ แล้วไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ให้กักสัตว์ไว้ดูอาการ อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ อย่าปล่อยสัตว์หนีหาย หากสัตว์ตายให้รีบแจ้งประสานหน่วยงานข้างต้นทันที เพื่อนำซากสัตว์ส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้า

ข่าว: กรมปศุสัตว์    ข้อมูล: ส่วนบำบัดรักษาโรคสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

๖ สิงหาคม ๒๕๕๕