เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

โครงการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า พื้นที่เสี่ยงเขตกรุงเทพมหานคร (บทความที่ 4/2556)

“โรคพิษสุนัขบ้า” เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ คนและสัตว์ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทั้งหมด โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ (มกราคม-กันยายน) ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน ๔ ราย ซึ่งกรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิต ๑ ราย และยังตรวจพบการติดเชื้อในสัตว์มากที่สุดของประเทศ เหตุผลสำคัญคือ การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว ซึ่งเป็นพาหะหลักของโรคยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงจำนวนสุนัขและแมวทั้งหมด อีกทั้งจำนวนสุนัขและแมวในที่สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเจ้าของสัตว์นำไปปล่อยในที่สาธารณะ และไม่มีการควบคุมจำนวนประชากร ทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น

 ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อไม่ให้พบผู้เสียชีวิตและสัตว์ที่ต้องตายด้วยโรคนี้อีกต่อไป กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดทำโครงการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เสี่ยงเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสุนัขจรจัดจำนวนมาก โดยให้บริการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขึ้นทะเบียนประชากรสุนัขและแมว รับเลี้ยงสุนัขที่เจ้าของไม่สามารถเลี้ยงได้ และการส่งเสริมประชาชนให้เลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยง ตลอดจนรับบริจาคอาหารสุนัขเพื่อนำไปเลี้ยงสุนัขที่ไม่มีเจ้าของในโครงการบ้านหมาน่าอยู่ของกรมปศุสัตว์

                   โครงการดังกล่าว จะทำให้สุนัขและแมวในที่สาธารณะพื้นที่เสี่ยงได้รับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าครอบคลุมอย่างทั่วถึง ประชากรสุนัขและแมวลดลงจากการบริการผ่าตัดทำหมัน การรับเลี้ยงสุนัขที่ประชาชนไม่สามารถเลี้ยงได้ ซึ่งจะลดปัญหาการเพิ่มสุนัขและแมวในที่สาธารณะ และยังส่งเสริมประชาชนเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ มีความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย      

 

โครงการดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ รวม ๔ เดือน โดยจัดสถานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชน วัด ที่มีสุนัขและแมวจรจัด ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ โดยมีแผนการปฏิบัติงานดังนี้

 

                        - ออกปฏิบัติงาน สัปดาห์ละ ๔ วัน (วันอังคาร – วันศุกร์) เป็นเวลา ๔ เดือน รวม ๖๔ วัน

 

                        - จุดบริการวันละ ๕ จุด

 

                        - ปฏิบัติงานจุดละ ๔ วัน หรือตามความเหมาะสม

 

                        เวลาปฏิบัติงาน

 

                        - ลงทะเบียนฉีดวัคซีน เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๕.๐๐ น.

 

                        - ลงทะเบียนผ่าตัดทำหมัน เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๓.๐๐ น.

 

                        สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ โทร. ๐ – ๒๖๕๓ – ๔๔๔๔ ต่อ ๔๑๓๗ – ๘ โทรสาร. ๐ – ๒๖๕๓ - ๔๘๖๒                                                                                      

 

                                                            .........................................

 

 

 

                   ท่านผู้ฟังสามารถส่งไปรษณียบัตร แสดงความคิดเห็นแนะนำรายการ        ได้ที่ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์      ถนนพระรามหก พญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐ ๒๖๑๘ ๒๓๒๓ ต่อ ๑๖๒๖-๗