เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (บทความ1 /2555)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน ห่างไกลและทุรกันดาร จึงทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยความห่วงใยจึงทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านวิชาการเกษตรสมัยใหม่ มีโอกาสเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมของตนเองอย่างได้ผล ที่สำคัญ คือ ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้าทดลอง และ วิจัยหาพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสัตว์ปีก เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ ใช้เทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาถูก หรือเทคนิควิธีการดูแลต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะด้านอาหารเป็นอันดับแรกและทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงและมีรายได้ตลอดปี

 กรมปศุสัตว์น้อมรับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ ซึ่งนอกจากจะมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการหลายๆ โครงการเพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นแหล่งสร้างงาน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนในเขตพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งการศึกษาเรียนรู้ การดูงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพด้านการเกษตรแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาพดี รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติอีกด้วย การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการปศุสัตว์ ซึ่งดำเนินในทุกภาคของประเทศ จึงมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละสภาพพื้นที่ โดยยึดหลักช่วยเหลือเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้ไม่เดือดร้อน อาศัยความสามัคคีของคนในชุมชน ประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า พัฒนาต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืน เป็นหลักในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชดำริ

                        ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปาย ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเล็กๆ ระหว่างหุบเขาซึ่งอยู่ริมฝั่งลำน้ำต่างๆ ได้แก่ แม่น้ำปาย น้ำแม่สะงา น้ำแม่สะงี น้ำแม่ฮ่องสอน เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ พื้นที่เกษตรกรรมมีอยู่ตามที่ราบริมฝั่ง ของแม่น้ำปาย และลำน้ำสาขา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ และกระเหรี่ยง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการรับจ้างทั่วไป ทำการผลิต ทดลอง สาธิต และส่งเสริมการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ลุ่ม ให้กับราษฎรในหมู่บ้านเป้าหมายของศูนย์ ในเขตตำบลปางหมู ตำบลผาบ่อง ตำบลหมอกจำแป่ ตำบลห้วยผา และตำบลห้วยโป่ง

ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตั้งอยู่ ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน  ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและหุบเขาซึ่งอยู่ระหว่างภูเขาสูงชัน พื้นที่ส่วนใหญ่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าดิบเขา มีพื้นที่ ทำการเกษตรน้อย ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาได้แก่ ชาวไทยใหญ่ ม้ง และกะเหรี่ยง ประชาชนบริเวณนี้อาศัยที่ราบเล็กๆ และพื้นที่ตามไหล่เขาทำการเกษตรกรรม และการรับจ้างทั่วไป  ทำการผลิต และส่งเสริมการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง โดยมีหมู่บ้านเป้าหมายของศูนย์ ในเขตตำบลปางหมู ตำบลผาบ่อง ตำบลหมอกจำแป่ ตำบลห้วยผา ตำบลห้วยโป่ง และ ตำบลห้วยปูลิง

                       

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง หมู่บ้านปางอุ๋ง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่  อยู่ในตำบลแม่ศึก  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่  และเป็นถิ่นอาศัยตั้งหลักแหล่งของชนชาวไทยภูเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยงที่อพยพจากถิ่นที่เคยใช้หน้าดินในการทำไร่เลื่อนลอยหรือปลูกฝิ่นมาแล้ว  เข้ามาตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  พื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน  สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่  1,000 - 1,500  เมตร  ทางตอนกลางด้านทิศตะวันออกของลุ่มน้ำแม่แจ่มสภาพป่าไม้และต้นน้ำลำธารที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกบุกรุกทำลายเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นเป็นบริเวณกว้าง โดยมีวัตถุประสงค์ 4  ประการ คือ ส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาปลูกพืชตามหลักวิชาการเกษตรแผนใหม่ให้เพียงพอแก่การบริโภค ในท้องถิ่น  จะเน้นการช่วยเหลือการปลูกข้าวเพื่อการบริโภค  ข้าวไร่  ข้าวนาปี  และธนาคารข้าว  เป็นการปฏิบัติงานมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการแรก ๆ ส่งเสริมการปลูกพืชชนิดใหม่ที่เป็นรายได้ทดแทนฝิ่น  เช่น  ไม้ผลต่าง ๆ  พืชไร่  พืชผัก พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานทางสังคมที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรอย่างถาวรในพื้นที่ที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว  โดยเน้นการปลูกไม้ผลเป็นพืชหลักระยะยาว

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  ให้คำแนะนำและส่งเสริมการเกษตรแก่เกษตรกร ชาวเขา 13 หมู่บ้าน  293  หลังคาเรือน  ประชากรประมาณ  2,847  คน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60,000  ไร่  ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งที่เข้าทำประโยชน์ไม่ได้และทำประโยชน์ได้  โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้   และเกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินโดยมี  สปก.  เฉพาะที่ดินที่ตั้งบ้านเรือนและที่นา  ในส่วนของพื้นที่ทำไร่เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงไม่มีกรรมสิทธิ์  ซึ่งคิดเป็นพื้นที่การเกษตรที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋งให้การส่งเสริมประมาณ  5,000  ไร่

ได้มีการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ แบ่งออกเป็นหลายประเภท อาทิ  พืชผัก  ได้แก่  แครอท  มันฝรั่ง  กะหล่ำปลี  เป็นพืชที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง แนะนำไม่ให้เกษตรกรปลูกตลอดปี  ทั้งนี้  เพื่อรักษาระดับราคาผลผลิต  ตลอดจนกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารหน้าดินสูง  สำหรับผักที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่นาในช่วงฤดูแล้ง   เป็นพืชตระกูลฟัก  เช่น  ฟักทองญี่ปุ่น  ฟักมะพร้าว  ฟักจีน  เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานและสะดวกต่อการขนส่งในระยะทางไกลสำหรับการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบาก ไม้ผลเมืองหนาว  ซึ่งเป็นพืชหลักระยะยาวของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  ได้แก่ ท้อ  พลัม  บ๊วย  เสาวรส  แอปเปิ้ล  ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  พยายามส่งเสริมให้มากขึ้นเพื่อลดการใช้พื้นที่ปลูกผัก  โดยเฉพาะการปลูกกะหล่ำปลีให้น้อยลง ทั้งนี้  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  ส่งเสริมให้เกษตรกรแต่ละรายปลูกได้ไม่ต่ำกว่า 2  ชนิด  เพื่อลดอัตราการเสี่ยง  และเพื่อให้เกษตรกรมีกิจกรรมทำอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความพร้อมของเกษตรกร  พื้นที่และตลาดรองรับ พืชไร่  ซึ่งได้ประสานกับภาคเอกชนในการขายผลผลิตข้าวบาร์เล่ย์ที่ส่งเสริมแก่เกษตรกรในพื้นที่ให้มากที่สุดหลังฤดูการเก็บเกี่ยว  การปลูกข้าวสาลี  และส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปลูกกาแฟ  เนื่องจากสามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นานและเหมาะสมกับพื้นที่ทุรกันดาร  โดยได้จัดสร้างเรือนเพาะชำ  กาแฟไว้ใกล้แหล่งเพาะปลูกให้มากที่สุด  พร้อมกับจัดงบประมาณเป็นค่าจ้างให้แก่เกษตรกรอาสาสมัครชาวไทยภูเขาในการร่วมมือกับเกษตรกรให้เป็นผู้ดูแลเรือนเพาะชำ ตั้งแต่การกรอกดินใส่ถุง  ลงต้นกล้า  และบำรุงรักษาจนครบ 1  ปี ไม้ดอกเมืองหนาว ได้แก่  แกลดิโอลัส ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์  ได้แก่  สุกร  ปลานิล เป็ดเทศ

แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เกษตรกรในหมู่บ้านปางอุ๋งและศูนย์พัฒนาฯ  ใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมฝายในร่องน้ำของหมู่บ้านปางอุ๋ง 2 แห่ง  เมื่อศูนย์พัฒนาฯ  ส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งจึงทำให้ปริมาณน้ำลดน้อยลงจนกระทั่งเกือบไม่พอใช้ สำหรับหมู่บ้านผาระปิ  ซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำแม่แจ่ม เกษตรกรในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง   ใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่โครงการลุ่มน้ำแม่แจ่มจัดสร้างพร้อมฝาย  ซึ่งสามารถทดน้ำเข้าสู่แปลงข้าวบาร์เล่ย์ในพื้นที่ราบเชิงเขา  โดยมีระบบในการควบคุมการใช้น้ำด้วยการปล่อยน้ำเดือนละ 2 - 3 ครั้ง

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์พัฒนาฯปางอุ๋ง ส่งเสริมให้ชาวเขามีส่วนร่วมในการรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร  และห้ามมิให้ผู้ใดบุกรุกเข้าไปทำกินโดยเด็ดขาด  พร้อมกับดูแลและให้เกษตรกรใช้พื้นที่เกษตรกรรมตามที่กำหนดอย่างเหมาะสม  โดยคำนึงถึงแหล่งน้ำและระยะทางไม่ไกลจากหมู่บ้านของเกษตรกรเกินไป 

ทั้งนี้โดยประสานงานกับหน่วยงานของกรมป่าไม้ที่ควบคุมดูแลการใช้พื้นที่อย่างเข้มงวด  โดยให้ชาวเขาที่เป็นผู้บุกรุกพื้นที่ป่าเป็นผู้ปลูกป่าซ่อมแซมและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  ก็จะไม่ส่งเสริมพืชแก่เกษตรกรที่บุกรุกพื้นที่ป่า

สำหรับกิจกรรมการปลูกป่าเป็นงานเสริมที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  ดำเนินการร่วมกับหน่วยปลูกป่าของกรมป่าไม้และราษฎรชาวเขาในวันสำคัญต่าง ๆ  ในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านและบนดอย  โดยปลูกไม้โตเร็วที่ได้รับพันธุ์จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  ๕  พันธุ์

ด้วยพระบุญญาธิการแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ชาวไทยภูเขา  ณ  แผ่นดินนี้  ได้รู้จักการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง  ไม่ต้องเร่ร่อนเหมือนก่อน  มีความพร้อมทั้งด้านวิชาความรู้  และปัจจัยการผลิตทางการเกษตร  สามารถนำรายได้โดยสุจริตมาจุนเจือครอบครัว  ทดแทนการปลูกฝิ่นพืชอันตรายในอดีต  ความเป็นอยู่จึงมีความมั่นคงขึ้น  ไม่ต้องหักล้างถางพงหรือทำลายป่า  รู้จักรักและสงวนสภาพป่าไม้  เพราะได้รับการอบรมชี้แจงถึงความสำคัญและผลกระทบเมื่อป่าไม้ถูกโค่นทำลาย  ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้น่าอยู่  ราษฎรบ้านปางอุ๋งสามารถติดต่อกับคนเมืองหรือชาวไทยพื้นราบได้สะดวกขึ้น  ความเจริญก้าวหน้าเช่นนี้ก็ด้วยพระมหาปรีชาญาณที่พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ  ที่ทรงมุ่งมั่นให้พสกนิกรมีความสุขความเจริญทั่วทุกถิ่นฐานแห่งพระบรมโพธิสมภาร

 

*********************************************

 

ข้อมูล : กลุ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่เฉพาะ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์

เรียบเรียง : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์