"....ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแล รักษา แจกจ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไก เป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน
ธนาคารโคและกระบือ พอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนกับธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคหรือกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวมใครจะสมทบธนาคารโคและกระบือ ก็ไม่จำเป็นต้องนำโคหรือกระบือไปมอบให้ อาจบริจาคในรูปของเงิน..."
พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันพืชมงคล 14 พฤษภาคม 2523 เกี่ยวกับโครงการธนาคารโคและกระบือตามพระราชดำริ
ด้วยในการเสด็จพระราชดำเนินออกตรวจเยี่ยมราษฎร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ (อำเภอวัฒนานคร และอำเภอสระแก้ว ในขณะนั้น) ทรงทราบว่า มีราษฎรจำนวนมากต้องเช่าโค - กระบือไว้ใช้แรงงานในราคาแพงมาก และ บางครั้งเมื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแล้วก็แทบไม่เหลืออะไรเลย เพราะเงินที่ได้ต้องจ่ายเป็นค่าเช่าโค - กระบือเกือบหมด จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งธนาคารโค - กระบือขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน ได้มีโอกาสมีโค - กระบือไว้ใช้แรงงานเป็นของตนเอง โดยการเช่าหรือเช่าซื้อหรือวิธีการอื่นใด ในราคาที่ถูกจากส่วนราชการ องค์กร หรือเอกชน ฯลฯ
กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการฯ ขึ้น โดยใช้กระบือของกรมปศุสัตว์จำนวน 280 ตัว นำไปให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี - สระแก้ว ตามพระราชดำริ ในท้องที่อำเภอสระแก้ว และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี (ในขณะนั้น) เป็นครั้งแรก โดยการให้เช่าซื้อและผ่อนส่งใช้ให้หมดภายใน 3 ปี และกรมปศุสัตว์ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการได้
ข่าวโครงการ “ธนาคารโค - กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ” ได้แพร่หลายทางสื่อมวลชนแทบทุกแขนง จึงได้มีผู้มีจิตศรัทธาติดต่อขอบริจาคโค - กระบือให้แก่กรมปศุสัตว์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการฯ และต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการธนาคารโค - กระบือฯ ทั้งหมด โดยได้พระราชทานทั้งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตลอดจนโค - กระบือที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ให้แก่กรมปศุสัตว์ เพื่อนำไปดำเนินการธนาคารโค -กระบือ ฯ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ที่จะพระราชทานความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ยากจน ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ในด้านการซื้อหาโค - กระบือ ได้มีโอกาสใช้โค - กระบือ ที่พระราชทานนี้ไปใช้เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และมีความร่มเย็นผาสุขในการดำรงชีพตลอดไป
วัตถุประสงค์ที่สำคัญของ ธคก. คือ เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยากจนทั่วประเทศได้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ มีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน และหัวหน้ากลุ่มโครงการพิเศษ เป็นเลขานุการ โดยมีระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการดำเนินการโครงการธนาคารโค - กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2553 เป็นแนวทางการปฏิบัติ แนวทางการให้บริการมี การให้ยืมเพื่อการผลิต การให้เกษตรกรผู้ยากจนยืมแม่โคหรือแม่กระบือของ ธคก. โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อลูกโคหรือลูกกระบือตัวแรก อายุครบ 18 เดือน ให้ส่งลูกโคหรือลูกกระบือนั้นคืน ธคก. ส่วนลูกโคหรือลูกกระบือตัวต่อไปเป็นของเกษตรกร และเมื่อยืมแม่โคหรือแม่กระบือครบ 5 ปี ให้ยกแม่โคหรือแม่กระบือดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรผู้ยืม แต่หากเกษตรกรผู้ยืม ยืมแม่โคหรือแม่กระบือไป 3 ปีแล้ว ไม่มีลูกโคหรือลูกกระบือตัวแรกคืน ธคก.จะนำแม่โคหรือแม่กระบือดังกล่าวคืน เพื่อไปให้บริการแก่เกษตรกรรายอื่นยืมต่อไป (เว้นแต่จะตรวจพบว่าแม่โคหรือกระบือมีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ ธคก.จะเปลี่ยนแม่พันธุ์ให้) การให้เช่าซื้อ กรณีที่เกษตรกรต้องการเป็นเจ้าของโค - กระบือของ ธคก. จะพิจารณาให้เช่าซื้อโคหรือกระบือของ ธคก. โดยเกษตรกรจะต้องชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา การให้ยืมพ่อพันธุ์โค - กระบือ ในหมู่บ้านที่มีแม่พันธุ์โค - กระบือ ของ ธคก. ไม่ต่ำกว่า 50 ตัว เพื่อให้บริการพ่อพันธุ์แก่แม่โค - กระบือ ของ ธคก. ภายในหมู่บ้านนั้นๆ การให้เช่าเพื่อใช้แรงงาน กรณีที่เกษตรกรไม่มีโค - กระบือ ไว้ใช้งานของตนเองแต่ไม่ต้องการซื้อ สามารถเช่าโค - กระบือ เพื่อใช้แรงงาน โดยเสียค่าเช่าโค - กระบือ ตัวละ 300 บาท/ปี การให้บริการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาต้องได้รับการพิจารณาจากปศุสัตว์จังหวัดและได้รับอนุมัติจากธคก. เพื่อให้บริการเป็นกรณีพิเศษ
คุณสมบัติของเกษตรกร มีสัญชาติไทยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์ มีความประพฤติดี และยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ ยังไม่เคยได้รับโคหรือกระบือจากโครงการอื่นๆ มาก่อน มีความเหมาะสมและสามารถที่จะดูแลเลี้ยงดูโค - กระบือได้ มีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ จปฐ.1 หรือได้รับการรับรองจากกลุ่มหรือชุมชนนั้นๆว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ
*********************************************
ข้อมูล : กลุ่มโครงการพิเศษ กรมปศุสัตว์
เรียบเรียง : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์