กรมปศุสัตว์จัดโครงการสัมมนาชี้แจงมาตรฐานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศให้แก่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศประมาณ 100 นาย เพื่อชี้แจงและถ่ายทอดนโยบายการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ รวมถึงเพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมี สัตวแพทย์หญิง ดร.วิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ในวันที่ 31 มกราคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมรอยัลฮิลล์ กอล์ฟรีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดนครนายก
สัตวแพทย์หญิง ดร.วิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ โดยได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535 ตั้งแต่ปี 2545 นั้น ผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าในด้านการเพิ่มจำนวนโรงฆ่าสัตว์ควบคู่กับการพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์ กล่าวคือมีการจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์แห่งใหม่ที่มีมาตรฐานการผลิตเหมาะสมกับผู้บริโภค มีการปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์เดิมให้ได้มาตรฐานการผลิตมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการปรับปรุงกฎหมายบางฉบับให้มีความเหมาะสมกับมาตรฐานการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชาชนในประเทศ รวมถึงสภาพการณ์ปัจจุบันที่การพัฒนาโรงฆ่าสัตว์มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีการปรับปรุงกฎหมายแต่ละครั้ง จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีในการดำเนินงานปรับปรุง ประกอบกับการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์จำเป็นต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จึงจำเป็นที่จะต้องมีการซักซ้อมความเข้าใจในนโยบายการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ ทั้งในด้านกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติงาน การเฝ้าระวังคุณภาพสินค้า ปศุสัตว์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาโรงฆ่าสัตว์สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ กรมปศุสัตว์ต้องการ และท้ายที่สุดจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ ถึงมาตรฐานการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยของประเทศ
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความก้าวหน้าดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกอาจส่งผลให้การพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ไม่สำเร็จตามเจตนารมณ์ของกรมปศุสัตว์ที่ได้วางไว้ เช่น การบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย การประเมินผลและวิเคราะห์การปฏิบัติงานการพัฒนาสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ฯลฯ และที่สำคัญคือ ทิศทางการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศของกรมปศุสัตว์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจำเป็นที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศให้สอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพ
ด้านนายสัตวแพทย์สมบัติ ศุภประภากร ผู้อำนวยการส่วนควบคุมโรงฆ่าสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการที่กรมปศุสัตว์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ตั้งแต่ปี 2545 โดยมีพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 และกฎหมายลูกต่างๆ ประกอบเป็นหลักในการดำเนินงานนั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม 2556 พบว่ามีจำนวนโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 2,640 โรง และได้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,632 โรง คิดเป็น 61.82 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2553 ซึ่งโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตของฯ มีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อพิจารณาแนวโน้มการออกใบอนุญาตฯ พบว่าโรงฆ่าสัตว์ของเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับโรงฆ่าสัตว์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ เนื่องจาก โรงฆ่าสัตว์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการบำรุงรักษาและจัดการด้านสุขอนามัยให้ถูกต้องตามกฎหมาย
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้เชิญ ผู้อำนวยการส่วนการรับรองคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมการตรวจตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ในห้องปฏิบัติการ และผู้แทนจากส่วนต่างๆ ของสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ รวมทั้งสิ้น 100 คนเข้าร่วมสัมมนา ใช้ระยะเวลาในการสัมมนา 2 วัน การสัมมนาในครั้งนี้ใช้รูปแบบการบรรยาย และการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นในการรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน แนวทางการแก้ไขและพัฒนาการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ รวมถึงการนำเสนอผลการระดมสมองเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มต่างๆด้วย
-------------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ข่าว : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์