เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์แจงเดือนก.พ.56จับผู้กระทำความผิดตาม พรบ.ที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรและอาหาร 7 ราย(53/2556)

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 กรมปศุสัตว์ โดยคณะทำงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ในสุกร ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้เลี้ยงสุกรจาก 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุพรรณบุรี 5 ราย และจังหวัดราชบุรี 2 ราย รวมจำนวน 7 ราย ในข้อหาใช้สารต้องห้ามผสมอาหารเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ชนิดซัลบูทามอล (Salbutamol) โดยผู้กระทำความผิดทั้ง 7 ราย เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 มาตรา 6(5),57 ซึ่งจะระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการสุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะสุกร อาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรในฟาร์ม หรือตลอดจนเนื้อและเครื่องในสุกรในโรงฆ่าสัตว์ ส่งห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ และสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ จำนวน 8 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาสารต้องห้ามดังกล่าวข้างต้น อย่างสม่ำเสมอ หากตัวอย่างปัสสาวะมีผลเป็นบวก จะให้กักสุกรไว้และเก็บตัวอย่างปัสสาวะตรวจจนกว่าจะมีผลเป็นลบ จึงให้เคลื่อนไปสู่โรงฆ่าได้ ในกรณีที่ตัวอย่างอาหารเลี้ยงสุกรมีผลตรวจเป็นบวก กรมปศุสัตว์จะเข้าแจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการหรือเจ้าของฟาร์มรายนั้น  ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่ผลตรวจตัวอย่างเครื่องในสุกรที่เก็บจากโรงฆ่าพบสารดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายสุกรตัวนั้นทันที ไม่ให้นำไปจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผู้บริโภคให้ห่างไกลจากสารต้องห้ามที่มีอันตรายต่อร่างกายด้วย

ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือผู้ที่พบเห็นการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ หรือสารต้องห้ามเลี้ยงสุกร รวมทั้งการลักลอบนำเข้า และซื้อ-ขายสารดังกล่าว ให้แจ้งเบาะแสได้ที่ กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4555 ในวัน และเวลาราชการ หรือส่งจดหมายไปที่ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ 69/1 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โดยทางกรมปศุสัตว์จะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งไว้เป็นความลับ ซึ่งหากรายใดศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับแล้ว  ผู้แจ้งจะได้รับรางวัลสินบนนำจับด้วย เนื่องจากการใช้สารต้องห้ามผสมอาหารเลี้ยงสุกรอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และเป็นการทรมานสัตว์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ Food Safety ของรัฐบาล และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าด้วย

-----------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์                                                                                                                                                     ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม กลุ่มเผยแพร่ฯ สสส.