วันนี้ (วันอังคารที่ 26 มีนาคม 25556) นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการประชุมการแนะนำการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Thai Rabies Net) ณ ห้องประชุมริชมอนด์ บอลรูม 1 ชั้น 4 โรงแรมริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเตรียมพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้ารับประชาคมอาเซียน (AEC) โดยกลุ่มประเทศอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 หรือปี ค.ศ.2020 นอกจากนี้การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ หากประเทศไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีจะเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโรคสัตว์ทั้งโรคพิษสุนัขบ้า และโรคอื่นๆ มากมาย ซึ่งจะมาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายสัตว์ เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ขณะนี้ประเทศไทยได้มีเป้าหมายในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปในปี 2563 ปัจจุบันพบว่าการเกิดโรคในคนมีจำนวนลดลงมากโดยเฉพาะในปี 2555 พบเพียงผู้ป่วยเพียง 5 ราย เช่นเดียวกับในสัตว์ที่มีการพบโรคลดลงเป็นลำดับ อย่างไรก็ดีหากต้องการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ทั้งหมดได้ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วน-ท้องถิ่น (อปท.) โดยเน้นมาตรการที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งต้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสุนัข และแมวที่มีมากเกือบ 10 ล้านตัว การควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรค เมื่อมีการตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้า จะต้องมีการปูพรมฉีดวัคซีนให้สัตว์ทุกตัวในบริเวณนั้น ค้นหาสัตว์ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนประมาณ 6 เดือนภายหลังจากการเกิดโรค ท้ายสุดคือการสำรวจประชากรสุนัขและแมว ซึ่งข้อมูลจำนวนสุนัขและแมวนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางการทำงาน เช่น การเฝ้าระวังโรค และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ทั้งนี้การแนะนำการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Thai Rabies Net) ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวัง และฐานข้อมูลประชากรสุนัข-แมวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ใช้งานระบบฐานข้อมูลจริง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และฐานข้อมูลดังกล่าวนี้จะเป็นฐานข้อมูลกลางที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเฝ้าระวัง จะนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบอันจะส่งผลดีต่อการควบคุมโรค และประเทศชาติต่อไป โดยในระยะเวลาที่ผ่านมา การพัฒนางานระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภากาชาด กรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ในการสนับสนุนงบประมาณ ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่างๆ
ด้านนายสัตวแพทย์วิริยะ แก้วทอง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่สำคัญ โดยมีพาหะที่สำคัญคือสุนัขและแมว ซึ่งประเทศไทย
ยังคงมีการระบาดของโรคนี้อยู่ ถึงแม้อัตราการเกิดโรคจะลดลงจากอดีตอย่างมากอันเนื่องจากผลของการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคปศุสัตว์ ภาคสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยให้หมดไปภายในปี 2563 ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทั้งด้านนโยบาย ด้านปฏิบัติงานในพื้นที่ ด้านการตรวจวินิจฉัย ด้านการเฝ้าระวังโรค เนื่องด้วยการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานในระบบเฝ้าระวังมีความหลากหลาย ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลการเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพและสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงได้ดำเนินการพัฒนาให้มีฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และยังได้ขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังไปยังภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบสัตว์สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานก้าวแรกที่สำคัญในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการโครงการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป และเพื่อให้การพัฒนาฐานข้อมูลครอบคลุมทุกๆ ด้าน กรมปศุสัตว์จึงได้จัดการประชุมเพื่อแนะนำการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Thai Rabies Net) ขึ้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ ห้องปฏิบัติการ และหน่วยงานอื่นๆ เกี่ยวข้อง ได้มีการทดลองใช้ระบบฐานข้อมูล และเป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานเพื่อการแก้ไข ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศต่อไป
-----------------------------
ข้อมูล : ศูนย์พัฒนาระบบงานระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น.ส.จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์