เห็บสุนัข มี ลักษณะแตกต่างจากแมลงโดยทั่วไป คือเห็บเต็มวัยมี 8 ขา เห็บจะไม่มีหัวมีแต่ส่วนที่เป็นปากยื่นออกมาให้เห็นเท่านั้น ขนาดของเห็บโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เห็บจะใช้ส่วนปากของมันแทงเข้าใต้ผิวหนังและเกาะติดแน่นบนตัวสุนัขแล้วดูดกินเลือดเป็นอาหาร เห็บตัวเมียซึ่งได้รับการผสมพันธุ์จากเห็บตัวผู้บนตัวสุนัข แล้วจะดูดเลือดจนตัวเป่งจนขยายตัวเต็มที่อาจมีขนาดถึง 12 มิลลิเมตร มองดูคล้ายเมล็ดลูกหยี เมื่อมันจะวางไข่ มันจะถอนส่วนปากออกจากผิวหนัง หล่นจากตัวสุนัขแล้วไปหาที่วางไข่ หลังจากตัวเมียวางไข่แล้วก็จะแห้งตาย และก่อนที่เห็บจะออกจากตัวสุนัขทุกครั้งเห็บจะดูดกินเลือดจนตัวเป่งเต็มที่ก่อนเสมอ
เห็บมีวงจรชีวิต 4 ระยะ ระยะแรกคือไข่ ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียวซึ่งจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน ไข่ทั้งหมดจะรวมอยู่กันเป็นกอง ๆ ประมาณ 2,000 ถึง 4,000 ฟอง จากนั้นตัวอ่อนจะมีการออกจากตัวสุนัข 3 ครั้ง เพื่อลอกคราบ โดยสามารถอาศัยอยู่ตามพื้นบ้าน ผนัง มุมกรงสุนัข ตลอดจนสนามหญ้าที่สุนัขเดินผ่าน แล้วลงมาวางไข่นอกตัวสุนัข ไข่ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะมีเพียง 6 ขาเท่านั้น เคลื่อนที่ได้ไวมาก ตัวอ่อนนี้จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขอย่างน้อย 2 -3 วัน เมื่ออิ่มแล้วจะหล่นจากตัวสุนัข ไปหาที่ลอกคราบ กลายเป็นตัวกลางวัย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนอย่างเห็นได้ชัดและมี 8 ขา ตัวกลางวัยนี้จะกินเลือดบนตัวสุนัขอีก และจะหล่นลงสู่พื้นเมื่อกินอิ่มแล้วเช่นกัน
จากนั้นจะลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะต้องขึ้นบนตัวสุนัขอีกเพื่อดูดเลือดและผสมพันธุ์ต่อไป วงจรชีวิตของเห็บชนิดนี้จะ สมบูรณ์ได้ในเวลา ประมาณ 45-50 วัน แล้วแต่อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เห็บแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก ถ้าเจ้าของสุนัข ไม่เอาใจใส่สุนัข ปล่อยให้มีเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายในบ้าน จะพบเห็บในปริมาณมากจนน่าตกใจ สุนัขอาจตายจากเห็บ จาการเสียเลือดทำให้ผอม และอ่อนเพลียแล้ว เห็บยังสามารถนำโรคร้ายแรง อื่นๆ มาให้สุนัขอีกด้วย
คนส่วนใหญ่เมื่อจับเห็บจากตัวสุนัขได้มักจะชอบบี้ให้ตาย นั่นจะเป็นการทำให้ไข่ของเห็บแพร่กระจายได้รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ปัญหาและอันตรายที่เกิดจากเห็บ
1. สูญเสียเลือดอย่างเรื้อรัง และเกิดสภาวะโลหิตจางเนื่องจากทุกระยะของเห็บยกเว้นไข่จะดูดกินเลือดสุนัขนั่นเอง
2. เกิดบาดแผลบนผิวหนังของสุนัข ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สภาวะผิวหนังติดเชื้อเป็นหนอง
3. ก่อให้เกิดความรำคาญและอาการคัน เนื่องจากน้ำลายเห็บ ทำให้สุนัขเกาและเกิดแผลตามมาได้
4. การติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด
4.1 โรคไข้เห็บ (Babesiosis)
4.2 Ehrlichiosis
4.3 Hepatozoonosis
5. ทำให้เกิดอัมพาตเนื่องจากเห็บ (Ticks paralysis)
การควบคุมและกำจัด
1. การควบคุมโดยการใช้สารเคมี
2. การควบคุมโดยชีววิธี
3. การควบคุมแบบผสมผสาน
4. การควบคุมโดยการใช้วัคซีน
ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการควบคุมโดยการใช้สารเคมีเท่านั้น เนื่องจากอีก 3 วิธีที่เหลือยังไม่เป็นที่นิยมและอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง
รูปแบบของการใช้สารเคมีในการกำจัดเห็บ
1. แชมพูกำจัดเห็บหมัด ประกอบไปด้วย แชมพูฟอกและทำความสะอาดตัวสุนัข ซึ่งจะมีส่วนของสารเคมีหรือสารสกัดจากธรรมชาติที่มีผลในการกำจัดเห็บหมัด ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เห็บหลุดจากตัวสุนัขชั่วคราว การอาบต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนล้างออก
2. แป้งโรยตัว ซึ่งผู้ผลิตมักแนะนำให้โรยตัวหลังอาบน้ำ แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะโรยตัวก่อนการอาบน้ำมากกว่า เพื่อขจัดสารเคมีออกจากตัวสุนัขก่อนที่สุนัขจะเลียแล้วก่อให้เกิดความเป็นพิษได้
3. สเปรย์ ใช้สารเคมีเจือจางพ่นลงบนตัวสุนัขโดยเฉพาะบริเวณที่เห็บเกาะ มีผลทำให้เห็บตายได้
4. สารเคมีเข้มข้นชนิดผงหรือสารละลาย ที่ใช้ผสมน้ำเพื่อราดตัว จุ่มตัว หรืออาบตัวสุนัขเพื่อฆ่าเห็บและหมัด เหา สุนัขได้
5. กลุ่มเวชภัณฑ์ชนิดฉีด มีฤทธิ์ทำให้เห็บเกิดอัมพาตจนตายได้
6. กลุ่มสารเคมีหยดผิวหนัง (Spot on) สารเคมีจะคงตัวอยู่ในชั้นไขมันใต้ผิวหนังในช่วงเวลาหนึ่ง มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บหมัด
7. ปลอกคอกันเห็บหมัด (Collars)
วิธีการควบคุมเห็บที่ถูกต้อง
เพื่อให้การควบคุมเห็บมีประสิทธิภาพสูง จำเป็นต้องมีการควบคุมเห็บพร้อมกันทั้ง 2 ส่วน คือ
1. การควบคุมบนตัวสุนัข
2. การควบคุมภายนอกตัวสุนัข หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย โดยการพ่นสารเคมีกำจัดเห็บตามบริเวณซอกกรง บริเวณที่สุนัขนอน สนามหญ้า โดยใช้เครื่องสเปรย์คันโยกหรือฝักบัวรดน้ำต้นไม้
หลักในการควบคุมเห็บสุนัขให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ อาจสรุปได้ดังนี้
1. เลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง และเห็บไม่ดื้อต่อสารชนิดนั้น
2. มีการควบคุมเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายนอกตัวสุนัข
3. เลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
4. ใช้สารเคมีในขนาดที่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในฉลากกำกับสารเคมี
5. ทำการควบคุมเห็บในสุนัขทุกตัวที่เลี้ยงอยู่รวมกัน หรือใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
6. สามารถใช้รูปแบบการควบคุมเห็บบนตัวสุนัขได้มากกว่า 1 วิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คัดลอก ดัดแปลง และเรียบเรียงจากเอกสารการประกวดสุนัข 2545 “เห็บสุนัขและการควบคุม” ของ รศ. น.สพ. ดร.อาคม สังข์วรานนท์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
--------------------------------------------
ข้อมูล/ภาพประกอบ : สพ.ญ.ปราณี พาณิชย์พงษ์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เผยแพร่ : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์