เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ปี 2552)

 

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์) ประจำปี พ.ศ.2552

bestfarmergroup 52 01กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ตำบลคอรุม

ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

จัดตั้งเมื่อ          ปี 2544

จดทะเบียน        เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2546 เลขทะเบียน อต 65/2546

สมาชิกแรกตั้ง    จำนวน 30 คน สมาชิกปัจจุบัน จำนวน 75 คน

อาชีพ                เลี้ยงโคเนื้อ

ประธานกลุ่ม       นายจรัญ มากบ้านบึง

ที่ทำการกลุ่ม      เลขที่ 82 หมู่ที่ 2 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

โทรศัพท์                08-7917-4237

ผลงานดีเด่น

ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน

bestfarmergroup 52 02           ในพื้นที่ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ นอกเหนือจากการทำนาแล้ว เกษตรกรมีการเลี้ยงโคอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นลักษณะต่างคนต่างเลี้ยง ไม่มีระบบการจัดการแต่อย่างใด และเนื่องจากในอดีตการคมนาคมและสื่อสารต่างๆ ไม่สะดวก ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดในโค-กระบือไม่ทั่วถึง ขาดการพัฒนาการเลี้ยงโค-กระบือที่ถูกต้อง ทั้งด้านพันธุ์สัตว์และด้านอาหารสัตว์ ทำให้โคของเกษตรกรเกิดโรค เติบโตช้า แคระแกรน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ตำบลคอรุมขึ้นเมื่อปี 2544 มีสมาชิกเริ่มจัดตั้ง จำนวน 30 คน เพื่อสะดวกในการประสานขอรับการสนับสนุนในด้านความรู้ทางด้านวิชาการ การให้บริการ ตลอดจนขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่างๆ และสามารถต่อรองกำหนดราคาสินค้าของสมาชิกได้

          ต่อมากลุ่มฯ มีความเข้มแข็งจึงได้จดทะเบียน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2546 สมาชิก 58 ราย โค 600 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อสร้างรายได้ให้สมาชิก ให้สมาชิกมีการดำเนินกิจการร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ และผลิตปุ๋ยคอกใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี เพื่อลดรายจ่ายและรักษาสิ่งแวดล้อม

ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน

bestfarmergroup 52 03           ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์คอรุม มีสมาชิก 75 ราย มีโคเนื้อของสมาชิก 1,100 ตัว การบริหารจัดการของกลุ่มยึดหลักการมีส่วนร่วมของสมาชิก คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ทำการบริหารโดยคณะกรรมการที่มีโครงสร้างการบริหารองค์กรที่ชัดเจน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก และกรรมการอีก 5 คน รวม 9 คน โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้คณะกรรมการต่างๆ มีบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนและมีการคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ทุกๆ 2 ปี เมื่อครบวาระมีการประชุมสมาชิกทุกๆ 3 เดือน

           และจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกปีกลุ่มฯ สามารถดำเนินการบริหารตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม ทำให้สามารถปิดบัญชีกลุ่มได้ทุกปี กลุ่มได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคของสมาชิก โดยพ่อพันธุ์และการผสมเทียม ส่งเสริมให้สมาชิกจัดทำแปลงหญ้าส่วนตัวและสำรองฟางอัดฟ่อนเพื่อลดรายจ่ายค่าอาหารหยาบ จัดอบรมศึกษาดูงานการเลี้ยงโคเนื้อจากฟาร์มเอกชนที่ประสบผลสำเร็จและจากหน่วยงานราชการ และจัดระบบการขายโคเนื้อของกลุ่มโดยการสร้างคอกโคของกลุ่มในตลาดนัดโค-กระบือ บ้านน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากนี้ยังได้จัดหาสินเชื่อให้สมาชิกยืมไปใช้ในกิจกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ กำหนดให้สมาชิกออมเงินสัจจะ บริการอัดฟางฟ่อนจำหน่ายในราคาถูก จัดตั้งกองทุนกากน้ำตาล ตลอดจนบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดใน โค-กระบือของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ จากความสามารถในการบริหารจัดการที่เข้มแข็งของคณะกรรมการฯ ทำให้สมาชิกมีความสามัคคีและเชื่อมั่นในองค์กร ยอมรับและปฏิบัติตามมติของกลุ่มอย่างเคร่งครัด ตลอดจนร่วมกันประกอบกิจกรรมของกลุ่มอย่างพร้อมเพรียงกัน

           จากการดำเนินงานที่เข้มแข็งของคณะกรรมการ ความรักสามัคคี ความร่วมมือกันของสมาชิก และมีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น ธ.ก.ส. ให้เงินกู้แก่กลุ่ม เงิน 1,500,000 บาท อบจ.อุตรดิตถ์ ให้การสนับสนุนเครื่องอัดฟางฟ่อนอัตโนมัติ 1 เครื่อง เงิน 500,000 บาท งบประมาณจัดงานวันโคบาล เงิน 50,000 บาท อบต.คอรุม สนับสนุนอุปกรณ์ผสมเทียม 1 ชุด เงิน 68,000 บาท ซองเหล็กบังคับสัตว์ 1 ชุด เงิน 50,000 บาท และงบประมาณอบรมศึกษาดูงานทุกปี เงิน 50,000 บาท

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

bestfarmergroup 52 04            สมาชิกจะเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีทุกปี เพื่อร่วมพิจารณาผลการดำเนินงานตามแผนงานที่ผ่านมาของกลุ่ม ร่วมรับรองงบรายจ่ายประจำปี ตลอดจนเสนอข้อคิดเห็นเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติงานของปีต่อไป ร่วมลงคะแนนคัดเลือกคณะกรรมการบริหารกลุ่มทุก 2 ปี และในทุกๆ 3 เดือน สมาชิกจะร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อปัญหาอุปสรรค ตลอดจนรับทราบข้อปฏิบัติหรือประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สมาชิกมีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีผู้เชี่ยวชาญช่วยในการประเมินราคาโคที่สมาชิกจะจำหน่าย ทำให้ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้า สมาชิกร่วมกันปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่ม สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา มีการลงหุ้นอย่างครบถ้วน ปัจจุบันมีหุ้นอยู่ทั้งสิ้น 654 หุ้น เงิน 32,700 บาท มีการออมเงินทุกๆ เดือน คนละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ทำให้มีเงินรับฝากสัจจะ/ออมทรัพย์ ถึง 202,060 บาท นอกจากนั้นยังได้ร่วมกันอัดฟางฟ่อนเพื่อเป็นรายได้กลุ่ม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดอย่างครบถ้วน และร่วมจัดงาน วันโคบาล เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและพัฒนาพันธุ์โคของสมาชิก

           จากการที่สมาชิกยอมรับและปฏิบัติตามมติของกลุ่มอย่างเคร่งครัดทำให้สมาชิกสามารถลดรายจ่ายในการเลี้ยงโคลงในด้านอาหารหยาบ (หญ้าสด ฟางอัดฟ่อน) คิดเป็นมูลค่าเงิน 2,000,000 บาท ยารักษาโรคและถ่ายพยาธิ เงิน 100,000 บาท และใช้มูลโคเป็นปุ๋ยคอกทดแทนปุ๋ยเคมี เงิน 800,000 บาทต่อปี ในปี 2551 สมาชิกมีรายได้จากการจำหน่ายโคผ่านทางคอกกลางของกลุ่มที่ตลาดนัดโค-กระบือ จำนวน 213 ตัว คิดเป็นมูลค่า 1,491,000 บาท

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

bestfarmergroup 52 05            กลุ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยึดถือระเบียบการรับ-จ่ายและและเก็บรักษาเงินอย่างเคร่งครัดและกลุ่มได้รับการยอมรับจากสมาชิก ตลอดจนสถาบันต่างๆ ทำให้กลุ่มมีทุนดำเนินการ จำนวน 2,892,562 บาท ประกอบด้วย ทุนเรือนหุ้น 32,700 บาท ทุนสำรอง 77,335 บาท ทุนสะสม 14,300 บาท เงินกู้และเงินรับฝากออมทรัพย์ 1,776,983 บาท กำไร 108,244 บาท รถไถ 1 คัน 250,000 บาท เครื่องอัดฟางอัตโนมัติ 500,000 บาท ซองเหล็กบังคับสัตว์ 50,000 บาท อุปกรณ์ผสมเทียม 1 ชุด 68,000 บาท และคอกโค ณ ตลาดนัด 15,000 บาท

           จากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้กลุ่มมีกำไร ดังนี้ ปี 2550 เงิน 36,804.66 บาท และปี 2551 กำไรเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 131,056.28 บาท

ในด้านความมั่นคงของกลุ่มนอกจากทุนดำเนินการแล้ว กลุ่มยังได้จัดทำประกันอุบัติเหตุกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนชำระเบี้ยประกันคนละ 100 บาท/ปี เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายของธุรกิจและช่วยเหลือผู้ค้ำประกันของสมาชิก

          นอกจากสินทรัพย์ของกลุ่มแล้ว ยังมีสินทรัพย์ส่วนบุคคล ได้แก่ โคเนื้อของสมาชิกทั้ง 75 ราย เลี้ยงโคเนื้ออยู่ 1,100 ตัว คิดเป็นมูลค่า 11,000,000 บาท โดยสมาชิกเลี้ยงโคสูงสุด 60 ตัว และต่ำสุด 5 ตัว

 bestfarmergroup 52 06  bestfarmergroup 52 07  bestfarmergroup 52 08

 

การทำกิจกรรมด้านสาธารณะประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

bestfarmergroup 52 09            กิจกรรมด้านสาธารณะประโยชน์

           1) ให้ความร่วมมือในการให้ยืมซองเหล็กบังคับสัตว์เพื่อใช้จัดงานต่างๆ
           2) ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโค-กระบือแก่เกษตรกรในพื้นที่
           3) ร่วมกิจกรรมสืบสานงานประเพณีตักบาตรเทโวของตำบล
           4) บริจาคเงินทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนในชุมชน
           5) ร่วมทำบุญเมื่อสมาชิกเสียชีวิต และสนับสนุนกีฬาเยาวชนโรงเรียน และ
           6) สนับสนุนกีฬาเยาวชนของโรงเรียนบ้านคลองกล้วย

bestfarmergroup 52 10           กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
           1) สมาชิกปลูกพืชอาหารสัตว์โดยใช้ปุ๋ยคอก (มูลโค) แทนปุ๋ยเคมี
           2) รณรงค์ให้สมาชิกปลูกและใช้สมุนไพรรักษาโรคสัตว์
           3) ส่งเสริมให้สมาชิกใช้มูลโคทดแทนปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกต่างๆ
           4) ส่งเสริมให้เกษตรกรในตำบลคอรุมทำการเกษตรอินทรีย์ และ
           5) รณรงค์ให้สมาชิกนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด กากผักบุ้ง กากถั่วเหลือง ฯลฯ