สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ปี 2554
กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อตำบลมะรุ่ย
ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา
ประวัติกลุ่ม |
ที่ตั้ง |
เลขที่ ๗๔/๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา |
|
|
จัดตั้งกลุ่มเมื่อ |
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ |
อายุของกลุ่ม ๑๑ ปี |
|
วันที่จดทะเบียน |
วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗ |
เลขทะเบียน ๘๒๔๕๐๐๐๐๒๒๗ |
|
สมาชิกแรกตั้ง |
จำนวน ๑๙ ราย |
สมาชิกปัจจุบัน จำนวน ๘๔ ราย |
|
อาชีพหลัก |
ปลูกยางพารา, ปาล์มน้ำมัน |
อาชีพเสริม เลี้ยงโคเนื้อ |
|
ประธานกลุ่ม |
นายประสงค์ ลูกแก้ว |
โทรศัพท์ ๐๘-๑๖๗๖-๖๑๖๗ |
๑. ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน
เนื่องจากในพื้นที่ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้มีพื้นที่ว่างเปล่าในสวนที่สามารถเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี จึงมีเกษตรกรบางส่วนนำโคเนื้อมาเลี้ยงในสวน โดยแรกเริ่มจะมีลักษณะต่างคนต่างเลี้ยง ไม่มีระบบการจัดการและขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ ต่อมาการเลี้ยงโคเนื้อเริ่มประสบปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดการ ด้านอาหารสัตว์ และด้านการดูแลรักษาสุขภาพสัตว์
จึงได้มีความคิดริเริ่มในการจัดตั้งกลุ่ม ทำการจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (เลขที่ ๘๒๔๕๐๐๐๐๒๗) ใ ช้ชื่อว่า “กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อตำบลมะรุ่ย” ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ สมาชิกเริ่มแรก จำนวน ๑๙ คน อยู่ภายใต้การดูแลของกรมปศุสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น และข่าวสารข้อมูลระหว่างสมาชิก การซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธุ์โค ปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมเทียม รวมกลุ่มซื้อขายปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งประสานงานกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการจัดตั้งกลุ่มแล้วพบว่าสามารถติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ได้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิก มีการร่วมปรึกษาหารือ แก้ไขปัญหาและพัฒนาพันธุ์โคอย่างต่อเนื่อง ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ การให้บริการทางด้านสุขภาพสัตว์ ตลอดจนขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี จนมีผลงานได้รับการยอมรับและ มีผู้มาขอศึกษาดูงานจำนวนมาก
๒. ความสามารถในการบริหารจัดการสถาบัน
กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อตำบลมะรุ่ย มีระบบการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ ปฏิคม และกรรมการ จำนวน ๙ คน มีวาระชุดละ ๒ ปี มีกรรมการที่ปรึกษา รวม ๔ คน โดยคณะกรรมการทุกคนมีบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน สามารถพัฒนาความเข้มแข็งจนมีเกษตรกรในพื้นที่สนใจและสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน ๘๔ คน มีโคเนื้อ จำนวน ๒๙๗ ตัว มีการจัดประชุมสมาชิกเป็นประจำทุกเดือนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ปรึกษาหารือ สอบถามปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ ให้แก่สมาชิก โดยมีการจดบันทึกการประชุมทุกครั้งและจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในเดือนมกราคมของทุกปี เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รับรองรายจ่าย กำหนดแผนปีต่อไปและจ่ายเงินปันผล บริหารงานตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่มทำให้กลุ่มสามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้และมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ จัดตั้งกองทุนสัจจะออมทรัพย์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืมไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ยราคาต่ำ จัดตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกในกรณีที่เสียชีวิต การให้บริการสนับสนุนการเลี้ยงโคเนื้อ เช่น มีกองทุนยาและเวชภัณฑ์สัตว์ มีอาสาปศุสัตว์ จำนวน ๙ คน เพื่อคอยดูแลสุขภาพโคของสมาชิก มีการประสานงานด้านการตลาดเพื่อรวบรวมสินค้า ดูแลการซื้อขายโคของสมาชิก โดยมีผู้เชี่ยวชาญประจำกลุ่มในการประเมินราคาเพื่อป้องกันการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งจัดหาตลาดให้สมาชิก มีการให้ความรู้และบริการผสมเทียมเพื่อปรับปรุงพันธุ์โคของสมาชิกให้ตรงกับความต้องการของตลาด
โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีลูกโคที่เกิดจากการผสมเทียมมากกว่า ๑๐๐ ตัว ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกจัดทำแปลงหญ้าและนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ทางปาล์ม ต้นข้าวโพดสด มาใช้เป็นอาหารเลี้ยงโค นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมปศุสัตว์จัดตั้งโรงเรียนปศุสัตว์โคเนื้อ เพื่ออบรมให้ความรู้แก่สมาชิก มีแหล่งเรียนรู้หรือเกษตรกรตัวอย่างในแต่ละด้าน เช่น ด้านการจัดทำแปลงหญ้า ด้านการใช้ทางปาล์มเป็นอาหาร ด้านการถนอมอาหารไว้สำรองในช่วงขาดแคลนหญ้าสด ด้านการผลิตแก็สจากมูลโค รวมทั้งการนำสมาชิกไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น
จากการดำเนินงานที่เข้มแข็งของคณะกรรมการฯ ด้วยความสามัคคีและความร่วมมือของสมาชิกและมีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าแม่พันธุ์โคเนื้อ งบพัฒนาจังหวัดพังงา จำนวน ๑๒๕,๐๐๐ บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องย่อยทางปาล์ม และจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพังงา จำนวน ๘,๐๐๐ บาท เพื่อจัดตั้งกองทุนยาและเวชภัณฑ์สัตว์
๓. บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน
สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อฯ จะเข้าร่วมประชุมทุกวันที่ ๒๐ ของเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ นำเสนอและร่วมปรึกษาหารือปัญหาอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติงานของกลุ่ม รวมทั้งแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ ผ่านการประชุมกลุ่มและติดประกาศให้สมาชิกทราบ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ ๒๐ มกราคมของทุกปี เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา ร่วมรับรองรายรับ-รายจ่ายประจำปี รวมทั้งร่วมกำหนดแผนงานของปีถัดไป ทั้งนี้ ยังเป็นวันที่มีการจ่ายเงินปันผลกองทุนสัจจะออมทรัพย์ให้แก่สมาชิก โดยหากมีคณะกรรมการครบวาระจะร่วมลงคะแนนคัดเลือกคณะกรรมการใหม่ในโอกาสเดียวกัน
สมาชิกจะร่วมกันออมเงินกับกองทุนสัจจะออมทรัพย์ทุกเดือน คนละ ๑๐๐ - ๕๐๐ บาท ปัจจุบันมีเงินออม จำนวน ๘๘๗,๔๐๐ บาท และให้กู้เงินโดยเสียดอกเบี้ย ร้อยละ ๑ ต่อเดือน นอกจากนี้สมาชิกยังต้องร่วมกันสมทบกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิต ศพละ ๓๐๐ บาท
สมาชิกจะร่วมใช้บริการที่กลุ่มจัดขึ้นเพื่อสร้างเงินทุนให้แก่กลุ่ม เช่น การซื้อขายโคผ่านกลุ่มต้องเสียค่าบริการ ๒๐๐ บาทต่อตัว การใช้เครื่องสับทางปาล์มต้องจ่ายค่าบริการ ๒ - ๕ บาทต่อ ๑๐๐ กิโลกรัม การใช้บริการกองทุนยาและอาสาปศุสัตว์ของกลุ่ม
สมาชิกร่วมกันดำเนินงานตามแผนงานพัฒนาการเลี้ยงโคของกลุ่ม ได้แก่ การจัดทำแปลงหญ้าในพื้นที่ว่าง ใต้สวนปาล์ม สวนยางพาราและใช้ทางปาล์มและต้นข้าวโพดเป็นอาหารโคเพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมเทียมเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ตลาดต้องการ เช่น พันธุ์บราห์มัน ชาร์โรเลย์และกำแพงแสน เข้ารับการอบรมและร่วมศึกษาดูงานที่จัดให้มีขึ้นร่วมกับส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งการใช้สมุนไพรรักษาสัตว์และใช้ปุ๋ยมูลโคในการเพาะปลูก เป็นต้น
๔. ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน
จากการสะสมทุนของกลุ่มด้วยการระดมทุนผ่านกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เป็นเวลา ๑๐ ปี โดยมีการออมทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ รวมกับค่าบริการต่างๆ ที่กลุ่มจัดให้กับสมาชิกทำให้กลุ่มมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดยมีการจัดทำบัญชีที่ชัดเจน ดังนี้
๑) ทุนดำเนินการ จำนวน ๙๒๖,๐๘๕ บาท ประกอบด้วย เงินหุ้น ๕,๘๐๐ บาท เงินสัจจะออมทรัพย์ ๘๘๑,๖๐๐ บาท และเงินกองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์ ๒๕,๐๐๐ บาท
๒) ทรัพย์สินในกลุ่มฯ จำนวน ๔๔๘,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย เครื่องสับทางปาล์ม ๑ เครื่อง มูลค่า ๑๒๕,๐๐๐ บาท แม่พันธุ์ ๒๑ ตัว มูลค่า ๓๑๕,๐๐๐ บาท
นอกจากนี้ ยังมีโคเนื้อที่เป็นของสมาชิก จำนวน ๒๙๗ ตัว คิดมูลค่าได้ประมาณ ๒,๙๗๐,๐๐๐ บาท ผลการดำเนินงานของกลุ่มทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมา ดังนี้ ปี พ.ศ.๒๕๕๑ มีกำไร ๑๑,๖๐๙ บาท ปี พ.ศ.๒๕๕๒ มีกำไร ๒๕,๒๔๔ บาท และปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีกำไร ๕๐,๒๘๕ บาท
๕. การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
๑) ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนปศุสัตว์ด้านการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน
๒) บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคคอบวม ให้สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง
๓) มอบทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียน
๔) มอบทุนยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุและเด็กนักเรียน
๕) ร่วมเป็นคณะทำงานดูแลความปลอดภัยด้านยาเสพติดและการรักษาความสงบของตำบล
๖) ร่วมพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ จำนวน ๔ ตัว
กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯ
๑) รณรงค์ให้สมาชิกปลูกพืชสมุนไพรเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
๒) ส่งเสริมให้สมาชิกใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นอาหารสัตว์
๓) ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ว่างในสวนยางพาราและสวนปาล์ม เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารหยาบและใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า
๔) ส่งเสริมให้สมาชิกใช้มูลสัตว์ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี
๕) พัฒนาป่าเสื่อมโทรม ป่าสงวนและร่วมปลูกป่าชายเลน