เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

โครงการพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์

 หลักการและเหตุผล

                ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดจัดทำเครือข่ายภาคประชาชนในระดับตำบล หมู่บ้านให้เข้มแข็ง ในลักษณะเดียวกับอาสาสาธารณสุขหมู่บ้าน : อสม. โดยจัดระบบบริหารจัดการอาสาสมัครทั้งหมดในระบบต่างๆ มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการกับเจ้าหน้าที่รัฐ

              ปัจจุบันอาสาปศุสัตว์ยังคงมีส่วนช่วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ปฏิบัติงานในท้องที่ ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงเห็นความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้อาสาปศุสัตว์มีความรู้ความสามารถพร้อมช่วยงาน จึงได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของอาสาปศุสัตว์ให้ชัดเจนและให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับฐานข้อมูลอาสาปศุสัตว์เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรกรอาสาของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นระบบ

              ในการนี้ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแผนการสร้างและเป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลอาสาปศุสัตว์ จึงได้ดำเนินการวางแนวทางในดำเนินการพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์ให้เป็นระบบเพื่อสนองต่อนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมปศุสัตว์

วัตถุประสงค์

เพื่อให้มี

             1.  ผู้ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ระหว่างเกษตรกร และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์

             2.  เกษตรกรตัวอย่างด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ในท้องที่

             3.   อาสาสมัครปฏิบัติงานตามแผนงาน และโครงการต่างๆของกรมปศุสัตว์ เช่น โครงการรณรงค์ป้องกันกำจัดโรคระบาดสัตว์

 บทบาทของอาสาปศุสัตว์

             1.   สามารถช่วยประชาสัมพันธ์และการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปศุสัตว์

             2.   เป็นเกษตรกรตัวอย่างด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่

             3.   เป็นผู้ประสานงานการป้องกันกำจัดโรคระบาดสัตว์ในระดับหมู่บ้าน

             4.   ช่วยสำรวจและบันทึกข้อมูลด้านปศุสัตว์ในท้องที่

             5.   เป็นผู้ช่วยสำรวจและบันทึกข้อมูลโค-กระบือในโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ

             6.   ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย

              * คุณสมบัติของเกษตรกรอาสาปศุสัตว์

                       -   มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

                       -   จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมีประสบการณ์ด้านปศุสัตว์ไม่น้อยกว่า 2 ปี

                       -   เป็นที่ยอมรับของชุมชน

การดำเนินงานโครงการ

                     -     สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ร่างต้นแบบหลักสูตรการฝึกอบรม/การประชุมสัมมนา และแจ้งแผนปฏิบัติงานพร้อมจัดสรรงบประมาณ

                     -    สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม/ประชุมสัมมนา ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรทบทวนอาสาปศุสัตว์

                     -    สำนักงานปศุสัตว์เขตดำเนินการประชุมสัมมนาอาสาปศุสัตว์ ใ

การพัฒนาศักยภาพพัฒนาปศุสัตว์ 

               ประกอบด้วย โครงการฝึกอบรม และ โครงการประชุมสัมมนารายละเอียด มีดังนี้

                       -    หลักสูตรทบทวนอาสาปศุสัตว์ 

                            จากการปฏิบัติงานในบางท้องที่ของอาสาปศุสัตว์พบว่ามีปัญหา อุปสรรค และการระบาดของโรคสำคัญในปศุสัตว์ และอาสาปศุสัตว์มีความต้องการทบทวนความรู้ด้านปศุสัตว์มากขึ้น เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์สามารถปฏิบัติงานร่วมกับอาสาปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนความรู้ให้อาสาปศุสัตว์ เพื่อให้อาสาปศุสัตว์สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม จึงให้มีการทบทวนความรู้ให้อาสาปศุสัตว์เป็นประจำอย่างต่อเนื่องให้อาสาปศุสัตว์พร้อมเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานอย่างมั่นใจ

                            ดังนั้น สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงได้จัดทำหลักสูตรต้นแบบการฝึกอบรมทบทวนอาสาปศุสัตว์ให้ทุกจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีรูปแบบและแนวทางในการจัดการฝึกอบรมต่อไป การฝึกอบรมมีระยะเวลา 1 วัน โดยให้มีการฝึกอบรมทบทวนอาสาปศุสัตว์ที่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานอาสาปศุสัตว์แล้ว เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วยเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่จะกำหนด

                       -   หลักสูตรก้าวหน้าด้านต่างๆ ระยะเวลา 1 - 2 วัน

                            โดยให้มีการฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์ที่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานอาสาปศุสัตว์แล้ว เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วยเรื่องที่สำคัญด้านเทคนิคที่จำเป็นในการช่วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ปฏิบัติงาน เช่น การป้องกันโรคไข้หวัดนก การเฝ้าระวังโรคระบาดที่สำคัญ ฯลฯ การเก็บตัวอย่างซากสัตว์ป่วย การสำรวจสัตว์ป่วยและตาย การผสมเทียม ฯลฯ (สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบ)

                       -   โครงการประชุมสัมมนาอาสาปศุสัตว์ 

                           เป็นการประชุมสัมมนาประจำปี เพื่อให้ทราบความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน และร่วมเสนอแนะการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหา– อุปสรรคที่เกิดระหว่างปฏิบัติงาน โดยให้อาสาปศุสัตว์ที่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานมาแล้วเข้าประชุมสัมมนา เนื้อหาการประชุมประกอบด้วย การชี้แจงความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาปศุสัตว์ การปศุสัตว์ที่สำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ และให้อาสาปศุสัตว์ดีเด่นบรรยายประสบการณ์ ฯลฯ   ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานอาสาปศุสัตว์ ซึ่งจัดในปีงบประมาณ 2548 - 2554 และรวมเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรอาสาพัฒนาปศุสัตว์ประจำตำบล และหลักสูตรอาสาพัฒนาปศุสัตว์หมู่บ้าน ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538

 สวัสดิการและการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ

                        -    กรมปศุสัตว์เห็นความสำคัญของอาสาสมัครเกษตรด้านปศุสัตว์ที่เรียกว่าอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการปศุสัตว์ระดับท้องที่ และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้อาสาปศุสัตว์มีกำลังใจปฏิบัติงานต่อไป นั้น กรมปศุสัตว์ จึงได้มีนโยบายให้มีการมอบรางวัล “อาสาปศุสัตว์ดีเด่น” สำหรับอาสาปศุสัตว์ ที่ให้ความร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์อย่าง ต่อเนื่องสม่ำเสมอและสามารถปฏิบัติงานได้ดีเด่นกว่าอาสาปศุสัตว์อื่นๆ เป็นผู้ได้รับรางวัลอาสาปศุสัตว์ดีเด่น โดยมีอาสาปศุสัตว์ดีเด่นในระดับจังหวัด ๆ ละ 1 รางวัล รวม 77 รางวัล และระดับสำนักงานปศุสัตว์เขต แห่งละ 1 รางวัล รวม 9 รางวัล

                        -    ให้อาสาปศุสัตว์ที่ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องได้รับสิทธิการประกันภัยอุบัติเหตุรายปี 

                              เนื่องจากกรมปศุสัตว์เห็นความสำคัญของอาสาปศุสัตว์ที่ปฏิบัติงานช่วยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในท้องที่อย่างต่อเนื่องและบางครั้งได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน

                              จึงได้มีหนังสือหารือกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้อาสาปศุสัตว์ที่ได้ทุ่มเทการปฏิบัติงาน แต่เนื่องจากกรมปศุสัตว์มีข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงได้ขออนุมัติการประกันภัยอุบัติเหตุรายปีให้อาสาปศุสัตว์ในเบื้องต้นโดยขออนุมัติเบิกจ่ายจำนวน 20 รายต่อจังหวัด และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 เสร็จสิ้นวันที่ 25 สิงหาคม 2551 นี้ กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือที่ กค 0109.7/02942 และหนังสือที่ กค 0406.6/2264 ตามลำดับ อนุมัติให้กรมปศุสัตว์สามารถ เบิกจ่ายการประกันภัยอุบัติเหตุรายปีให้อาสาปศุสัตว์ได้ตามที่ขออนุมัติ

                        -     การจัดงานวันอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นทั้งวันอาสา ปศุสัตว์และวันสถาปนากรมปศุสัตว์ และในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนอาสาปศุสัตว์ให้แต่ละพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆสำหรับอาสาปศุสัตว์ด้วย

                        -     มีการเผยแพร่ผลงานของอาสาปศุสัตว์ดีเด่นในสื่อต่างๆ

                        -     ให้พิจารณาอาสาปศุสัตว์ในอันดับต้นๆเพื่อเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมของกรมปศุสัตว์ในท้องที่

                        -     ให้โอกาสบุตรของอาสาปศุสัตว์ในการเข้าร่วมโครงการฝึกงานต่างประเทศ