กิจกรรมสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ
โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ เป็นโครงการตามพระราชดำริโครงการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการ เนื่องจากในการเสด็จพระราชดำเนินออกตรวจเยี่ยมราษฎรเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ทรงทราบว่า มีราษฎรจำนวนมากต้องเช่าโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน ในราคาแพงมาก และ บางครั้งเมื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแล้วก็แทบไม่เหลืออะไรเลย เพราะเงินที่ได้ต้องจ่ายเป็นค่าเช่าโค-กระบือเกือบหมด จึงทรงมีพระราชดำริ ให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งธนาคารโค-กระบือขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มีโอกาสมีโค-กระบือไว้ใช้แรงงานเป็นของตนเอง โดยการเช่าหรือเช่าซื้อหรือวิธีการอื่นใดในราคาที่ถูกจากส่วนราชการ องค์กร หรือเอกชน ฯลฯ
กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น โดยใช้กระบือของกรมปศุสัตว์ จำนวน 280 ตัว นำไปให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ในท้องที่อำเภอสระแก้ว และอำเภอวัฒนานคร (ในขณะนั้น) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522
โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นโครงการตามพระราชดำริที่ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่ตรงจุด ไม่เป็นการสร้างภาระหนี้สินให้เกษตรกร สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยแก้ไขปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานของเกษตรกร การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และยังช่วยรักษาสภาพผืนแผ่นดินให้ทวีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ที่สำคัญของ ธคก. คือ
1. เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยากจนทั่วประเทศได้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน
2. เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
เป้าหมาย
1. เกษตรกรมีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
2. สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การกำกับดูแลกันเองในชุมชนนั้นๆ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน
3. สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
พื้นที่ดำเนินการ
77 จังหวัด ทั่วประเทศ
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
1.1 กำหนดนโยบาย และกำหนดระเบียบการปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการบริหารโครงการฯ จำนวน 19 ราย โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน และหัวหน้ากลุ่มโครงการพิเศษ เป็นเลขานุการ
1.2 ประสานการจัดหาโค-กระบือ ที่ได้รับจากการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสนับสนุนให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่ได้ยื่นแบบแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการ
1.3 จัดทำทะเบียนโค-กระบือในโครงการทั่วประเทศ
1.4 รับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมโครงการ
1.5 จัดทำบัญชีรายได้ของโครงการทั้งจากการบริจาคและการดำเนินโครงการ
1.6 ควบคุมบัญชีเลขที่สัญญาและเสนอกรมฯอนุมัติการสนับสนุนโคกระบือให้กับจังหวัดต่างๆ
1.7 แจ้งการตอบรับเงินจากการดำเนินโครงการให้จังหวัด และ ปศข. ทราบ
1.8 ติดตามผลการดำเนินงานโครงการในภาพรวม
2. สำนักงานปศุสัตว์เขต
2.1 มีอำนาจอนุมัติเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังต่อไปนี้
1) เปลี่ยนจากรายเก่าเป็นรายใหม่ หรือจากยืมเพื่อการผลิต เป็นเช่าซื้อ เป็นต้น
2) การอนุมัติจำหน่ายและจำหน่ายทะเบียนลูกโค-กระบือที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกร
3) การอนุมัติจำหน่ายและจำหน่ายทะเบียนแม่โค-กระบือที่เกษตรกรได้ปฏิบัติตามสัญญาและสัตว์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกร
4) การอนุมัติจำหน่ายและจำหน่ายทะเบียนแม่โค-กระบือ หรือ ลูกโค-กระบือ ซึ่งตาย และไม่มีผู้รับผิดชอบชดใช้
5) การอนุมัติจำหน่ายและจำหน่ายทะเบียนแม่โค-กระบือหรือ ลูกโค-กระบือที่เกษตรกรขอซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
6) การอนุมัติให้ดำเนินการกรณีลูกโค-กระบือที่เป็นกรรมสิทธิ์ของธคก. (ขาย/ให้บริการรายใหม่)
2.2 จัดทำทะเบียนสัตว์ของโครงการในพื้นที่รับผิดชอบ
2.3 ติดตามผลการดำเนินโครงการของจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในปี 2554 กรมปศุสัตว์มีนโยบายที่จะดำเนินการแก้ปัญหาโค-กระบือตามสัญญายืมเพื่อการผลิตปี 2536 และสัญญาเช่าซื้อที่ยังค้างชำระ โดย ปศข. จะต้องรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาในทุกๆเดือน
3. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
3.1 ประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่เพื่อขยายการดำเนินโครงการ
3.2 ตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และชี้แจงรายละเอียด ระเบียบและหลักเกณฑ์ของโครงการให้เกษตรกรทราบ
3.3 จัดทำทะเบียนสัตว์ของ ธคก. ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทะเบียนสัตว์
3.4 ติดตามผลการดำเนินโครงในพื้นที่ เช่น
1) รายงานจำนวนลูกสัตว์เกิด
2) การให้บริการด้านสุขภาพสัตว์
3) การให้บริการผสมเทียม
4) การขออนุมัติจำหน่ายสัตว์ออกจากทะเบียนตามกรณีต่างๆ
5) การนำส่งเงินซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินโครงการ
3.5 สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการในลักษณะคณะกรรมการกลุ่ม
3.6 การประสานกับท้องถิ่นในการขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มสมาชิก ธคก.
3.7 ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในไร่นา ใช้แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ สนับสนุนการใช้แรงงานสัตว์ และการปลูกหรือสำรองพืชอาหารสัตว์ไว้ใช้ยามขาดแคลน
3.8 สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยแก้ปัญหาความยากจน
2. เกษตรกรได้มีสัตว์ไว้ใช้แรงงาน
3. เกษตรกรสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นอาหารโค-กระบือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร
4. เกษตรกรใช้มูลสัตว์เป็นแก๊สชีวภาพ เป็นปุ๋ยในไร่นา ลดค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ยเคมี และช่วยคืนความสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ
5. ช่วยเพิ่มปริมาณโค-กระบือภายในประเทศ
6. เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
7. ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพไม่ละทิ้งถิ่นฐาน
8. ชุมชนมีความสามัคคี และเข้มแข็งมากขึ้น จากการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ
เว็บไซต์ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ