เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

การเตรียมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเพื่อรองรับโอกาสจาก” AEC”

                 ทุกวันนี้ใครๆก็พูดถึง “เออีซี(AEC)” หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community) กันมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการจัดประชุมสัมมนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AEC โดยเฉพาะเรื่อง”วิกฤตหรือโอกาส” แต่ก็เชื่อว่า คนที่ได้ยินคำว่า AEC มีเพียงไม่กี่คนที่รู้จักและเข้าใจ เนื่องจากส่วนใหญ่มักได้ยินว่า AEC จะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ขยายตลาดรองรับหรือโอกาสในการทำการค้า โดยเฉพาะด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่การจะคว้าโอกาสและประโยชน์จาก AEC ได้นั้น จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อม

             สำหรับโคเนื้อนั้น จากสถานการณ์ราคาโคเนื้อนับแต่ปี 2549 ถึงปี 2552 ถือเป็นช่วงที่ตกต่ำจนถึงขั้นวิกฤตทำให้เกษตรกรหลายรายตัดสินใจจำหน่ายโคเข้าโรงฆ่าแล้วหันไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งจำนวนนี้มีโคเพศเมียที่คุณภาพเหมาะใช้ทำแม่พันธุ์ปะปนอยู่ด้วย ทำให้ปัจจุบันแม้ราคาโคเนื้อปรับตัวสูงขึ้น แต่เกษตรกรไม่มีแม่พันธุ์มาเลี้ยง ผลผลิตเนื้อโคจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งภายในประเทศและตลาดที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558

 ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการโคเนื้อและเนื้อโคเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่การผลิตโคเนื้อของแต่ละประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก จึงนับเป็นโอกาสดีของประเทศไทย เพราะถือว่ามีความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมโคเนื้อมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ที่จะผลิตโคเนื้อเพื่อส่งออกอย่างจริงจัง แต่จะสร้างโอกาสส่งออกโคเนื้อจากการเปิด AEC ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรเอง เพราะ AEC ที่เกิดขึ้น มีผลทำให้ทั่วภูมิภาคอาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว ด้วยตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากประชากรเกือบ 600 ล้านคน แน่นอนว่าความต้องการบริโภคเนื้อโคย่อมมากขึ้นตามไปด้วย และหลายประเทศในขณะนี้ผลิตโคเนื้อไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นถ้าประเทศไทยผลิตได้ ย่อมส่งออกได้อย่างแน่นอน เพราะในอาเซียน ประเทศที่มีโคเนื้อมากพอที่จะส่งออกได้คือพม่าซึ่งมีโคมากถึง 13 ล้านตัว แต่ด้วยกฎหมายของพม่ากำหนดว่าห้ามส่งออกโคไปต่างประเทศ แม้ในอดีตเคยส่งผ่านแนวชายแดนมายังฝั่งไทย แต่ทว่าเป็นโคของชนกลุ่มน้อยที่ลักลอบส่งเข้ามา ไม่ใช่โคของพม่าอย่างที่เข้าใจ ซึ่งปัจจุบันชนกลุ่มน้อยต่างๆ ได้หันมาเจรจาและร่วมมือกับรัฐบาลพม่ามากขึ้น ดังนั้นการลักลอบนำโคเข้ามาจำหน่ายฝั่งไทยก็น่าจะลดลง และเท่าที่ทราบพม่าเปิดการส่งออกโคเนื้อ ก็ส่งไปจำหน่ายยังประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ เพราะได้ราคาดีกว่าส่งจำหน่ายที่ประเทศไทยมาก

           สำหรับประเทศสมาชิกอื่น มีจำนวนโคไม่มากพอที่จะส่งออกได้เลย ทั้งยังมีความต้องการบริโภคอยู่จำนวนมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยสำหรับการส่งออกโคเนื้อไปยังประเทศสมาชิกต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ มีราคาดี ซึ่งที่ผ่านมามีการซื้อขายกันมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการมี AEC ทำให้การขนส่ง เคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างคล่องตัวขึ้น ที่สำคัญสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่3 นครพนม-แขวงคำม่วน ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยผ่านลาวเข้าเวียดนาม ผ่านไปจีนได้โดยตรง จะช่วยให้การขนส่งสินค้าไปเวียดนามได้สะดวกยิ่งขึ้น

จำนวนโคเนื้อและประชากรในประเทศอาเซียน ปี 2553

ประเทศ

จำนวนโคเนื้อ

(ล้านตัว)

จำนวนประชากร

(ล้านคน)

อัตราส่วน

ประชากรต่อโค

อินโดนีเซีย

13.63

240.30

1 : 0.06

พม่า

13.0

54.50

1 : 0.24

ไทย

6.42

67.04

1 : 0.10

เวียดนาม

5.91

91.54

1 : 0.06

กัมพูชา

3.48

14.95

1 : 0.23

ฟิลิปปินส์

6.88

103.70

1 : 0.06

สปป.ลาว

1.40

6.50

1 : 0.21

มาเลเซีย

0.91

29.46

1 : 0.03

บรูไน

0.001

0.41

1 : 0.002

สิงค์โปร

0.0002

5.07

1 : 0.0004

 

การปรับตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเพื่อรับโอกาส AEC

         ต้องยอมรับว่าในโอกาสของ AEC ที่จะมาถึง ก็มีวิกฤตปะปนอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากตัวของเกษตรกรและวงการโคเนื้อของไทยเอง เนื่องจากปัญหาราคาโคเนื้อผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงโคไปเป็นจำนวนมาก จำนวนโคลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2551ประเทศไทยมีโคเนื้อประมาณ 9.1 ล้านตัว แต่ปี 2554 ที่ผ่านมาเหลืองเพียง 6.5 ล้านตัว ผลผลิตจึงไม่เพียงพอกับความต้องการในปัจจุบัน ดังนั้นการส่งออกโคเนื้อจึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในการเร่งรัดการผลิตโคเนื้อเพิ่มขึ้น

             ถึงแม้ราคาโคเนื้อปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาด แต่ผลพวงจากการจำหน่ายโคทิ้งครั้งก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปขุนและส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ซึ่งมีโคเพศเมีย ทำให้ปัญหาขาดแคลนแม่พันธุ์ การขยายการเลี้ยงโคในระยะสั้นจึงไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรที่เลิกเลี้ยงไป ได้นำพื้นที่ไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ จึงเกิดปัญหาขาดแคลนพื้นที่เลี้ยง ตลอดจนประเทศไทยยังขาดโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก และราคาโคที่สูงขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงบางรายฉวยโอกาสใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งกระทบกับตลาดโคเนื้อของไทยในอนาคตได้

           อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพของไทย ทั้งเทคโนโลยีการเลี้ยง การปรับปรุงพันธุ สายพันธุ์ ตลอดจนการป้องกันควบคุมโรค ซึ่งเพียงพอที่จะสร้างมาตรฐานการส่งออกได้ไม่ยาก แต่ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่เป็นต้นน้ำที่สำคัญ ต้องร่วมเตรียมความพร้อมไปด้วยกันเพื่อปรับตัวเข้าหาโอกาสจาก AEC ที่จะเกิดขึ้น โดยมีเรื่องที่จะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมเข้า AEC ดังนี้

        1. เกษตรกรจะต้องศึกษาหาความรู้วิทยาการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองและรู้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ในเรื่องต่างๆได้แก่ สายพันธุ์ ลักษณะ และขนาดโคเนื้อที่ตลาดต้องการ ศึกษาสถานการณ์ด้านการตลาดโคเนื้อ ความต้องการของตลาด การเลือกใช้วัสดุเพื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การจัดการการเลี้ยงดู การจัดทำระบบบัญชีฟาร์ม ตลอดจนการศึกษาถึงการป้องกัน กำจัด และการรักษาโรคโคเนื้อ จะปล่อยเลี้ยงตามยถากรรมเหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว

2. เกษตรกรจะต้องรวมตัวเป็นสถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรและสร้างเครือข่ายให้เกิดความเชื่อมโยง ด้านการผลิตและการตลาด ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงแม่โคเนื้อเพื่อผลิตลูก 2) กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงลูกโคเตรียมขุน 3) กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโคขุน และ 4)กลุ่มผู้ประกอบการด้านการตลาด ซึ่งการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม หรือ สหกรณ์ จะช่วยแก้ปัญหาด้านการตลาด การขาดแคลนพันธุ์โคที่จะเลี้ยงเป็นโคขุน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง (Logistic) และช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรที่เลี้ยงแม่โค สามารถผลิตลูกโคได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีการรวมกลุ่ม ต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างขาย ปัญหาตลาดและราคาตกต่ำก็เกิดซ้ำซากไม่สิ้นสุด

        3. เกษตรกรจะต้องเก็บรักษาแม่โคพันธุ์ดีไว้ขยายพันธุ์ เพราะแม่โคเปรียบเสมือนโรงงานผลิตลูกโค ถ้าไม่มีแม่โคก็ผลิตโคเนื้อไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการส่งโคเพศเมียเข้าโรงฆ่าเนื่องจากมีราคาตกต่ำ ปัจจุบันแม้ราคาโคสูงขึ้น แต่โคเพศเมียยังถูกส่งเข้าโรงฆ่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะโคเนื้อขาดตลาด โรงฆ่าที่มีออเดอร์ส่งเนื้อให้เขียงทุกวัน บางครั้งหาโคตัวผู้ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ตัวเมียแทน โดยซื้อจากเกษตรกรหรือตลาดนัดนำมาขุนแล้วใช้สารเร่งเนื้อแดง ทำให้โคให้ผลผลิตดีไม่ต่างจากเพศผู้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป โคเพศเมียจะไม่เหลือ จึงอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อช่วยกันเก็บรักษาโคเพศเมียไว้ทำพันธุ์

         4. เกษตรกรต้องให้ความสำคัญด้านการปรับปรุงพันธุ์ โดยดูจากความต้องการของตลาด เช่นในปัจจุบัน ตลาดมีความต้องการโคลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ เพื่อผลิตเป็นโคขุน เกษตรกรก็ควรจะผสมพันธุ์แม่โค โดยใช้น้ำเชื้อโคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ พันธุ์ตาก หรือ พันธุ์กำแพงแสน ลูกที่เกิดมาจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าโคลูกผสมพื้นเมือง ปัจจุบันราคาโคลูกผสมพื้นเมืองมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-75 บาท แต่ถ้าเป็นโคลูกผสมชาร์โรเล่ส์ ราคาซากต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 148 บาท(หากมีไขมันแทรกสูงบวกไประดับละ 10 บาท) คิดเป็นน้ำหนักมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 92 บาท ต่อตัวมีความแตกต่างกันมาก ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด หากเกษตรกรให้ความสำคัญด้านการปรับปรุงพันธุ์ ก็จะได้ผลตอบแทนจากการเลี้ยงที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันถ้ามีการจัดทำพันธุ์ประวัติโคเนื้อ (Pedigree) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก

         5. เกษตรกรต้องมีการ ปลูกพืชอาหารสัตว์ จัดทำแปลงหญ้าของตัวเอง เนื่องจากหญ้าในธรรมชาติเริ่มมีปริมาณน้อยลงเนื่องจากพื้นที่สาธารณะลดลง อีกทั้งไม่มีคุณภาพและยังขาดแคลนในบางฤดู โดยเน้นปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่นหญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 ที่ให้ผลผลิตมากถึง 20 ตันต่อไรต่อรอบการตัด 45 วัน หรือให้ผลผลิตเฉลี่ย 80-100 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งเพียงพอที่เลี้ยงโคได้ถึง 5 ตัว เลยที่เดียว นอกจากนี้ต้องรู้จักการคิดสูตรอาหาร รู้จักการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่มาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตค่าอาหารด้วย

           6. มีการจัดการด้านพัฒนาสุขภาพโคเนื้อโดย เฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดเนื่องจากปัจจุบันมีการเกิดโรคระบาดบ่อยขึ้น จากเดิมมีเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นหลัก แต่ตอนนี้โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย (Heamorrhagic Septicemia)หรือโรคคอบวม เริ่มกลับมาระบาดอีกและสร้างปัญหาขึ้นอีก รวมถึงโรคพยาธิ ซึ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ควรมีการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยาบำรุง หรือรักษาโรคสัตว์ หรือใช้ถ่ายพยาธิด้วย

           7. มีการนำมูลโคมาใช้ประโยชน์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นการนำมูลโคมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยปกติโค 1 ตัวให้มูล 5-6 กิโลกรัมต่อวัน(น้ำหนักแห้ง)หรือประมาณ 2 ตันต่อตัวต่อปี ถ้าจำหน่ายกิโลกรัมละ 2 บาท ปีหนึ่งมีรายได้ประมาณ 4,000 บาท หากเลี้ยงโค 10 ตัว จะมีรายได้ตรงส่วนนี้มากถึง 40,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งเป็นรายได้จริงที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงแต่จัดการให้เป็นระบบเท่านั้น ยิ่งปัจจุบันที่การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มูลโคจึงเป็นที่ต้องการ นอกจากนี้มูลโค ยังนำมาผลิตเป็นไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อใช้หุงต้มในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายแก๊สหุงต้มได้อีกด้วย

          8. เกษตรกร จะต้องพัฒนาฟาร์มโคเนื้อให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ เนื่องจากการส่งเนื้อโคไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆในอาเซียนหลังจากเปิด AEC แน่นอนคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญระดับต้นๆ ดังนั้น เกษตรกร จะต้องพัฒนาฟาร์มโคเนื้อให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อขึ้นมาและกรมปศุสัตว์ประกาศใช้แล้วซึ่งจะทำให้เกิดระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

           9. เกษตรกรต้องสร้างเครื่องหมายสินค้า หรือแบรนด์(brand) ของกลุ่มหรือสหกรณ์ของตนเองขึ้น เพราะจะช่วยให้สินค้าเป็นที่จดจำและเพิ่มมูลค่าได้ ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า    “วากิว หรือวางิว” ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า โคพื้นเมือง ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ แต่มีพันธุ์ที่มีชื่อเสียงคือพันธุ์แบล็คเจแปน(Black Japanese) ซึ่งเป็นโคพื้นเมืองลักษณะตัวสีดำ แล้วมีการนำโคดังกล่าวไปเลี้ยงอยู่ที่เกาะโกเบ พร้อมทั้งมีการจัดการที่ดีทำให้เนื้อออกมามีคุณภาพ จึงเรียกเนื้อโคดังกล่าวว่า “เนื้อโกเบ” (Kobe)ซึ่งเป็นที่นิยมทำให้มีราคาสูงมาก และโคสายพันธุ์เดียวกัน ได้นำไปเลี้ยงที่เกาะทาจิมะ เรียกว่า “เนื้อโคทาจิมะ” เป็นที่นิยมและมีราคาแพงเช่นเดียวกัน นำไปเลี้ยงที่ไหนก็แล้วแต่ ก็เรียกชื่อตามสถานที่นั้นของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เช่น เคยูบีฟ (K U Beef) โพนยางคำ หนองสูง หรือโคพันธุ์ตาก ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเมื่อสร้างแบรนด์(Brand)ขึ้นมาต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ

         10. ต้องจัดทำ NID. เมื่อมีมาตรฐาน มีแบรนด์แล้ว การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มุ่งเน้นเรื่องการจดทะเบียนฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์แห่งชาติ (NID: National Indentify) เพื่อให้ทราบจำนวนปศุสัตว์ที่แท้จริง และจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) ได้ ซึ่งโคทุกตัวมีการทำเครื่องหมาย(เบอร์หู)แล้วเชื่อมโยงประวัติเข้าระบบข้อมูล ทำให้ตรวจสอบได้ว่า โคตัวนี้มาจากฟาร์มไหน เป็นของใคร สายพันธุ์อะไร เป็นต้น ซึ่งได้ทำมาตั้งแต่ปี2553 ในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2554 ในจังหวัดชายแดน และในปี 2555 ทำทั่วประเทศ แต่ทว่าเกษตรกรยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การดำเนินการจึงเป็นไปอย่างล่าช้า แต่กรมปศุสัตว์ได้ประกาศว่า โคที่เคลื่อนย้ายทุกตัวต้องมีเบอร์หู ถ้าไม่มี จะไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้าย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกษตรกรทำ NID มากขึ้น

         11. ต้องจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้ทราบถึงผลตอบแทน กำไรหรือขาดทุน เพื่อให้ทราบศักยภาพของตนเองในการแข่งขัน เพื่อได้แก่ไขจุดรั่วไหลที่เกิดขึ้นในระบบการผลิตได้ ถ้าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อไม่ทราบข้อมูลตรงส่วนนี้ การพัฒนาระบบการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพก็เป็นไปได้ลำบาก

               ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ผู้เลี้ยงโคทุกรายต้องให้ความสำคัญและหากปฏิบัติได้ ไม่ว่าเป็นตลาดในประเทศ ใน AEC หรือในระดับโลก ผู้เลี้ยงโคเนื้อของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างแน่นอน ตรงกันข้าม หากผู้เลี้ยงไม่ให้ความสำคัญยังปล่อยเลี้ยงตามยถากรรม ก็ไม่มีทางที่จะสร้างโอกาสการส่งออกจากการมี AEC ได้

โดย นายสว่าง อังกุโร  ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและพัฒนาโคเนื้อ กรมปศุสัตว์