เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

ระดับความรู้และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

ระดับความรู้และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์1/

ประเทืองทิพย์   เสือเอก2/  วิญญู  ทองทุม3/

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรู้และระดับการใช้ เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร และความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรู้การเลี้ยงโคนมกับระดับการใช้เทคโนโลยี การเลี้ยงโคนม และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมกับผลผลิตน้ำนมของเกษตรกรอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ สุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติ Chi-Square

              ผลการศึกษา พบว่าเกษตรกรส่วนมากเป็นชาย ร้อยละ 60.8 อายุเฉลี่ย 44.5 ปี จบประถม ศึกษา  มีประสบการณ์การเลี้ยงโคนมเฉลี่ย 6.7 ปี ได้รับการฝึกอบรม เฉลี่ย 3 ครั้ง มีจำนวนวันฝึกอบรม เฉลี่ย 21 วัน มีพื้นที่ถือครองทั้งหมดเฉลี่ย 16.5 ไร่ มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เป็นของตนเองเฉลี่ย 7.5 ไร่ มีโคนมทั้งหมดเฉลี่ย 18 ตัว มีโครีดนม เฉลี่ย 8 ตัว มีโคทดแทนฝูง 6 - 10 ตัว ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ย 9.9 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน

              เกษตรกรมีระดับความรู้การเลี้ยงโคนมระดับปานกลาง (x=1,319.4 คะแนน) มีระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมระดับปานกลาง (x=1,140 คะแนน) ระดับความความรู้การเลี้ยงโคนมกับระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม มีความสัมพันธ์กับระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม อย่างมีนัยสำคัญที่ .000 การใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมในหมวดวิชา อาหารและการให้อาหาร โรคและการป้องกันโรค ประสิทธิภาพฝูงโค ประสิทธิภาพการให้นมของแม่โค ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ฝูง และประสิทธิภาพการให้-อาหาร มีความสัมพันธ์กับระดับความรู้การเลี้ยงโคนมอย่างมีนัยสำคัญที่ .014, .001,.039, .002, .045 และ .003 ระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมไม่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตน้ำนมต่อตัว ต่อวันของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

              จากข้อสรุปที่ได้แสดงว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์  มีระดับความรู้และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมระดับปานกลาง มีผลต่อผลผลิตโคนมระดับปานกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงโคนม หลักสูตรก้าวหน้าเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มโคนมอย่างต่อ เนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องที่เกษตรกรมีความรู้ในระดับน้อยและยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

1/ ทะเบียนวิชาการเลขที่                 50 (2) – 0511 - 047
2/ นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 6 ว      สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี
3/ นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 8 ว      สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 6