ไข่เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสาร อาหารประเภทโปรตีน ทั้งยังมีไขมัน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินบี 12 วิตามินเอ และแร่ธาตุซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเซลล์ผิวหนัง ขน และเล็บ เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ มีค่าประมาณ 80 กิโลแคลอรี่ / ฟอง จึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักรวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย
จาก ผลการศึกษาวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติที่ระบุว่า คนวัยทำงานสุขภาพดีสามารถบริโภคไข่ได้ทุกวัน ไม่เพิ่มโคเลสเตอรอล และไม่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือด การจะบริโภคไข่เพื่อให้ได้คุณค่าควรบริโภคไข่ให้เพียงพอกับความต้องการของ ร่างกาย โดยเด็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจนถึงเด็กวัยเรียนควรมีการบริโภคไข่ได้วันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภาวะร่างกายปกติควรบริโภคไข่ 3 – 4 ฟอง / สัปดาห์ แต่หากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงก็ควรบริโภคไข่เพียง 1 ฟอง / สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
การ เก็บรักษาไข่ ไม่ควรล้าง เพราะจะทำให้ฝุ่นแป้งหลุดออกไป เป็นการเปิดรูพรุนทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ หากกลัวว่าจะไม่สะอาดก็ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วเช็ดให้แห้ง ทาน้ำมันพืชโดยรอบเปลือกไข่เพื่อปิดรูพรุนทำให้อากาศเข้าไม่ได้และน้ำในไข่ ระเหยออกมาไม่ได้จะเสียช้าลง ให้เก็บไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่าแต่ไม่ควรแช่แข็ง การวางไข่ให้เอาด้านแหลมลงด้านป้านขึ้น เพราะไข่แดงซึ่งมีน้ำหนักเบาลอยขึ้นจะได้ไม่กระทบกับอากาศและไม่ไปกระทบกับ เปลือกไข่ ถ้าวางไข่โดยเอาด้านป้านลงเมื่อไข่แดงลอยขึ้นกระทบเปลือกไข่เวลาต่อยไข่จะทำ ให้ไข่แดงแตกง่าย กรณีไข่แตกหรือร้าว ควรต่อยไข่ใส่ภาชนะไว้ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บไว้ได้ 2 – 3 วัน ไม่ควรทิ้งค้างไว้ในไข่ที่เปลือกแตก เพราะจะทำให้เชื้อโรคซึมผ่านเข้าไปในไข่ได้ แต่ถ้าแยกไข่ขาวออกจากไข่แดงไข่ขาวจะเก็บได้นาน 8 – 10 วันเลย ควรเก็บไข่ในที่ที่สะอาดปราศจากกลิ่นเหม็น เพราะเปลือกไข่มีรูพรุน สารที่มีกลิ่นและระเหยได้สามารถผ่านเข้าไปได้
ข้อมูล : โครงการปศุสัตว์น้อยเตือนภัย ใส่ใจผู้บริโภค กรมปศุสัตว์
เรียบเรียง : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์