กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จัดเตรียมเสบียงพืชอาหารสัตว์ และน้ำสะอาด สำหรับปศุสัตว์ พร้อมทั้ง ดูแลโรงเรือน ให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีรู รอยรั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนสาดเข้าโรงเรือนโดนตัวสัตว์ได้ พร้อมแนะให้ยาบำรุง ดูแล สังเกตสัตว์อย่างใกล้ชิด
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วโดยเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ร้อนจัดกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับมีลมกระโชกแรง หรือพายุฤดูร้อนในบางแห่ง เนื่องจากความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับในระยะนี้มีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และในบางพื้นที่อากาศร้อนในตอนกลางวัน มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะนี้ กรมปศุสัตว์จึงขอเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จัดเตรียมพืชอาหารสัตว์ น้ำสะอาดให้เพียงพอ พร้อมดูแลโรงเรือน ให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีรู รอยรั่ว หรือหาทางป้องกันไม่ให้ฝนสาดเข้าโรงเรือนโดนตัวสัตว์ได้ เพราะจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สัตว์เกิดความเครียด และหากโดนฝนก็อาจทำให้สุขภาพอ่อนแอ มีโรคแทรกซ้อนได้
โค กระบือ ควรระมัดระวังโรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดู ดังนั้นเกษตรกรควรทำวัคซีนในลูกโค กระบือเมื่ออายุ 4 เดือน และทำซ้ำทุกปี
สัตว์ปีก ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ด ระยะนี้ต้องระมัดระวังโรคระบาดในสัตว์ปีก เช่น โรคฝีดาษ โรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ และโรคระบาดอื่นๆ เพราะสัตว์ปีกมักอ่อนแอกับสภาวะอาการที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ดังนั้นเกษตรกรจึงควรให้การดูแล สังเกตอาการสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด ให้ยาบำรุง และควรให้วัคซีนป้องกันโรคสัตว์ปีกตรงตามกำหนด
สัตว์เล็ก เช่น สุนัข แมว ควรฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดก็ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย
นอกจากนี้การให้ความสำคัญในการดูแลพื้นที่จัดเก็บอาหารสัตว์ ไม่ให้เปียกหรือชื้น เพราะอาจขึ้นรา หรือแบคทีเรียได้เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย ทั้งนี้หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งปศุสัตว์ เช่น อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าป้องกันโรคได้ทันที และขอความร่วมมือเกษตรกรไม่นำสัตว์ป่วยหรือตายนำไปขาย ชำแหละ กิน หรือ ทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง เพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือโทร 085-660-9906.
………………………………………………………
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์