เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

อาหารเสริมอัดก้อนสำหรับโค-กระบือในช่วงหน้าแล้ง (77/2555)

กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรทำอาหารเสริมอัดก้อน UMMB สำหรับโค- กระบือในช่วงแล้งนี้ เพื่อ เสริมให้โค-กระบือมีสุขภาพดี  ลดการสูญเสียน้ำหนักโคในช่วงฤดูแล้ง 

              นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำให้เกษตรกรทำอาหารเสริมอัดก้อน (Urea Molass Mineral Block ) หรือ UMMB สำหรับโค- กระบือในช่วงแล้งนี้ เพื่อ เสริมให้โค-กระบือมีสุขภาพดี  ลดการสูญเสียน้ำหนักโคในช่วงฤดูแล้ง  โดยในช่วงนี้อากาศเริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ ควรมีการจัดเตรียมพืชอาหารสัตว์ หรือเสบียงสัตว์ ไว้ใช้ในยามขาดแคลน ซึ่งอาจเป็นพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าชนิดต่างๆ  หรือพืชผลทางการเกษตรอื่น อย่างมันกล้วย มันสำปะหลัง สำปะรด กระถิน ที่สามารถนำมาใช้เลี้ยงปศุสัตว์ได้ โดยอาจทำในรูปของการหมัก การทำให้แห้ง เป็นต้น

           ปัญหาหลักของการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องใน หน้าแล้ง คือ  พืชอาหารสัตว์ขาดแคลน มีคุณภาพต่ำ และมีคุณค่าทางโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของปศุสัตว์ ทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงควรมีการทำอาหารเสริมอัดก้อน  (Urea Molass Mineral Block ; UMMB) มาใช้เป็นอาหารเสริม สำหรับให้สัตว์เลียกิน เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหาร และชดเชยสารอาหารบางส่วนที่ขาดในหญ้าและฟางที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งในอาหารเสริมอัดก้อน หรือ UMMB มีส่วนผสมของกากน้ำตาล – ยูเรีย และแร่ธาตุ จะเป็นอาหารที่ช่วยเสริมให้โค-กระบือมีสุขภาพดี  ลดการสูญเสียน้ำหนักโคในช่วงฤดูแล้ง 

              สูตร และวิธีการผลิต  เป็นสูตรที่ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ วิจัยแล้วว่า มีความเหมาะสม ประหยัด หาแหล่งวัตถุดิบง่าย ขั้นตอนการผสมไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถทำได้ หรือนำไปปรับใช้ในจำนวนและปริมาณที่เหมาะสมได้เอง และที่สำคัญตรงตามวัตถุประสงค์ที่จะใช้  โดยมีส่วนประกอบดังนี้

ส่วนประกอบ

จำนวน (กก.)

คุณค่าทางอาหารของ UMMB

กากน้ำตาล

40

ความชื้น

  12.08 % 

ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0)

5

โปรตีน

19.41 % 

แร่ธาตุรวม

5

ไขมัน

3.16 % 

ปูนซีเมนต์

10

เยื่อใย

1.46  %

ปูนขาว

4

NFE

42.22  %

รำละเอียด

36

Ca

6.42  %

 

 

P

0.38  %

 

 

แร่ธาตุปลีกย่อยอื่น ๆ

14.87%

รวม

100

 

 

          

 

 

 

 

 

               

 

   

 

             วัตถุดิบส่วนผสม กากน้ำตาล  ผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล เลือกชนิดที่มีความข้นเหนียว ไม่ผสมน้ำยูเรีย  คือปุ๋ยยูเรีย  สูตร 46-0-0แร่ธาตุรวม  เป็นแร่ธาตุผสม ประกอบด้วยแร่ธาตุหลักและแร่ธาตุรอง  ตามความต้องการของสัตว์ในช่วงอายุนั้นๆ อาจใช้แร่ธาตุสำเร็จรูปปูนซีเมนต์ ปูนขาว ใช้เป็นสารประสาน (binder)เพื่อให้ส่วนผสมจับเป็นก้อนแข็ง  รวมทั้งเป็นแหล่งให้แร่ธาตุบางตัว เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม เป็นต้น

              รำละเอียด  ใส่เพื่อเป็นตัวดูดซับกากน้ำตาล ช่วยให้การแข็งตัวเร็วขึ้น มีคุณสมบัติเกาะยึดได้ดี ช่วยให้การอัดก้อนเรียบแน่น  และเป็นแหล่งของพลังงานเพิ่มคุณค่าทางอาหาร

              ขั้นตอนการผสม  ควรใส่วัตถุดิบเรียงตามลำดับก่อนหลัง โดยเริ่มจากใส่กากน้ำตาลในภาชนะที่แข็งแรง ใส่ยูเรียลงไปแล้วกวนผสมจนเม็ดยูเรียละลายหมด ใส่แร่ธาตุรวม ตามด้วยปูนซีเมนต์ ปูนขาว เทลงในส่วนผสม  จากนั้นกวนส่วนผสมต่อไปจนเริ่มข้นเหนียว  ขั้นสุดท้ายจึงเติมรำละเอียดลงคลุกเคล้าจนทั่ว ส่วนผสมสุดท้ายสามารถปั้นเป็นก้อนได้

             การอัดแท่งหรืออัดก้อน   เทส่วนผสมลงในบล็อก (block) ซึ่งอาจทำจากไม้ หรือภาชนะบรรจุอื่นๆ ทำการอัดให้แน่นทิ้งไว้ประมาณ  2 วัน ส่วนผสมจะแข็งตัวเป็นก้อน แกะบล็อกหรือภาชนะออก นำไปวางหรือใส่ในภาชนะให้สัตว์เลียกิน หรือห่อพลาสติกมิดชิดเก็บไว้ใช้ได้ประมาณ 2 เดือนนับจากวันผลิต ที่สำคัญควรเก็บไว้ในที่โปร่งแห้งไม่อับ หรือ ชื้น กรณีที่ต้องการผลิตครั้งละมาก ๆ หรือเกษตรกรรวมกลุ่ม ผลิตควรจะมีอุปกรณ์ทุ่นแรงในการคลุกเคล้าส่วนผสม เช่น อาจใช้ถังผสม หรือมิกเซอร์ชนิดถังนอนแบบใช้มอเตอร์ปั่น ชนิดที่สามารถผสมอาหารแบบเปียกได้ การกวนส่วนผสมสามารถใช้เครื่องปั่นแบบบังคับด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า มีหัวปั่นเป็นแฉก  สำหรับกวนส่วนผสม  

             การใช้ประโยชน์และปริมาณที่ให้สัตว์กิน UMMB สามารถวางใส่ภาชนะ ตั้งไว้ให้สัตว์เลียกินตามใจชอบ  UMMB ที่มีความแข็งตัวพอดี สัตว์จะเลียกินได้อย่างสม่ำเสมอ ถ้านิ่มเกินไปสัตว์จะขบกินหรือแทะเคี้ยวได้มากเกินปริมาณที่กำหนด ควรใส่ภาชนะที่ให้สัตว์เลียกินทางด้านบน หรือใส่ภาชนะแขวนให้เลียกินด้านข้างหรืออาจทำตะแกรงวางด้านบนก้อนน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณการเลียกินของสัตว์ให้สม่ำเสมอ  ปริมาณที่ให้สัตว์เลียกินที่แนะนำ คือ โค - กระบือขนาดน้ำหนักตัวตั้งแต่ 250 กิโลกรัมขึ้นไป  ควรให้เลียกินไม่เกิน  500 กรัม/ตัว/วัน , แพะ – แกะ น้ำหนักตัวประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม  ควรให้เลียกินไม่เกิน 80 กรัม/ตัว/วัน และที่สำคัญสัตว์ควรได้รับอาหารหยาบอย่างพอเพียงและมีน้ำสะอาดกินตลอดเวลาด้วย

************************************                  

ข้อมูล : นางสุมน  โพธิ์จันทร์  กลุ่มวิจัยอาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์              
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ และ เรียบเรียงโดย : ดร.เพ็ญศรี ศรประสิทธิ์ กองอาหารสัตว์ / น้องนุช  สาสะกุล กรมปศุสัตว์