เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมระวังโรคปากและเท้าเปื่อย (83/2555)

 กรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทำวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างเข้มงวด ก่อนสูญเสียรายได้งามจากการจำหน่ายน้ำนมดิบ พร้อมขอความร่วมมือจากศูนย์รับนมและสหกรณ์โคนมเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยไม่ให้แพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่น

           นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมควรใส่ใจให้วัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย (Food and Mouth Disease : FMD) อย่างเคร่งครัด เพราะหากในฟาร์มที่มีโคนมติดเชื้อโรคนี้แล้ว จะไม่สามารถจำหน่ายน้ำนมโคได้เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากการขายน้ำนมดิบ และมูลวัวสดไปอีกหลายสัปดาห์ ซึ่งเกษตรกรสามารถป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยได้โดยทำวัคซีนควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยตามโปรแกรม และดูแลสุขภาพโคนมให้แข็งแรง พร้อมทั้งจัดการฟาร์มให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรพบสัตว์ป่วย แนะนำให้แยกสัตว์ป่วย ออกจากสัตว์ปกติให้เร็วที่สุดโดยจัดพื้นที่ให้อยู่ห่างกันมากที่สุดอีกด้วย ควรแยกบุคคลสำหรับดูแลสัตว์ป่วยหากไม่สามารถทำได้ให้ทำกิจกรรมกับสัตว์ป่วยเป็นลำดับสุดท้าย ต้องแยกอุปกรณ์ใช้งานของสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ งดอาบน้ำสัตว์ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์ม ในการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นคอกไม่ควรใช้เครื่องพ่นยาแรงดันสูง เนื่องจากจะทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายไปกับละอองฝอยได้ อีกทั้งต้องงดจำหน่าย หรือส่งนมและมูลโคสดออกนอกฟาร์ม

          ในศูนย์รับนมและสหกรณ์โคนม ควรปฏิบิติ ดังนี้

  • เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันที่เข้า-ออกศูนย์รับนมหรือสหกรณ์โคนม ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยจากผู้ปฏิบัติงาน
  • ประชาสัมพันธ์ให้เน้นย้ำเกษตรกรที่ยังไม่มีโคนมป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อยป้องกันการนำโรค   เข้าฟาร์มดังนี้

                                - งดการนำเข้าสัตว์มาเลี้ยงใหม่ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

                                - เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น

                                              - ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโคนม หากจำเป็นต้อง เปลี่ยนรองเท้าที่ใช้เฉพาะภายในฟาร์มและเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าบริเวณรีดนมและที่เลี้ยงโคนม

                                               - ห้ามยานพาหนะทุกชนิดเช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์   เข้าภายในฟาร์ม โดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรคและจัดให้รถดังกล่าวอยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงโคให้มากที่สุด

                                               - ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคถังส่งนมและอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนนำเข้าฟาร์ม

                                               - เลือกซื้อพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าไม่มีการระบาดของโรคปากและ เท้าเปื่อยของพื้นที่ดังกล่าว

  • หากฟาร์มอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดให้หลีกเลี่ยงการผสมเทียมและงด การนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ในช่วงที่มีโรคระบาดอยู่
  • หากพบโคนมป่วย หรือสงสัยว่าเป็นโรคปากและเท้าเปื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เข้าช่วยเหลือในการควบคุมโรคโดยเร็ว ทั้งนี้ถ้าเกษตรกรไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ และเป็นเหตุให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดความเสียหาย มีโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499

         โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่สำคัญ ใน โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากถังนม คน ยานพาหนะ เป็นต้น เพราะเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูล ลมหายใจและบาดแผล สัตว์ที่ป่วยจะแสดงอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปาก ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และมีตุ่มแผลที่ไรกีบ ทำให้เท้าเจ็บ เดินไม่สะดวก ในโคนมอาจมีเม็ดตุ่มที่เต้านมทำให้เต้านมอักเสบได้ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษา แต่จะใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาม่วงลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน สามารถป้องกันได้โดยทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยตามโปรแกรมอย่างเคร่งครัด จะสามารถลดอัตราการเกิดโรคได้

          ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เข้าเลี้ยงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเนื้อ กระบือ แพะและแกะ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 085-6609906

……………………………………………………..

ข้อมูล / ข่าว : ส่วนโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการา กรมปศุสัตว์