เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์ห่วงโรคระบาดสัตว์ที่พบบ่อยในช่วงเข้าหน้าฝน (101/2555)

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ ห่วงโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ ไข้ฉี่หนู และโรคพี อาร์ อาร์ เอส หรือ โรค เพิร์ส เน้นให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล หวังลดความสูญเสียปศุสัตว์ของเกษตรกร

            นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวน บางแห่งมีลมกระโชกแรง ฝนตก สลับกับอาการร้อน แล้ง ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ต่างๆ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เกิดความเครียด และมีผลต่อระดับภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสัตว์อ่อนแอ โดยเฉพาะสัตว์ที่ต้องเดินทาง หรือเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สัตว์ที่ไม่แข็งแรงจะไม่มีภูมิต้านทางต่อโรคต่างๆ ทำให้รับเชื้อโรคได้ง่าย และยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคระบาดต่างๆ แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นได้อีกด้วย

โรคระบาดสัตว์ที่อาจจะพบได้ในช่วงนี้

1.โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคระบาดที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งของ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เนื่องจากติดต่อได้เร็วและควบคุมให้สงบลงได้ยาก โรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตาย แต่สุขภาพทรุดโทรม ผลผลิตลดลง

สาเหตุ เกิดจาการติดเชื้อไวรัส

การติดต่อ เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าไป นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นโรคจะทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงติดต่อผ่านทางยานพาหนะ คน เสื้อผ้า อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ต่างๆด้วย

อาการ สัตว์จะมีอาการน้ำลายไหลฟูมปาก เกิดเม็ดตุ่มที่เยื่อเมือกต่างๆ เช่น บริเวณปาก จมูก กีบเท้า ทำให้สัตว์เกิดความเจ็บปวด กินอาหารไม่ได้ เดินกระเผลก กีบหลุด ซูบผอม โตช้า แท้งลูก ผสมไม่ติด

การรักษา ใส่ยารักษาแผลที่ปากและเท้า ร่วมกับการฉีดยาปฏิชีวนะจะทำให้สัตว์หายป่วยเร็วขึ้น

การป้องกัน ทำได้โดยการฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร ทุกๆ 6 เดือน

 

2.โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม เป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ แต่จะมีความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น โค แพะ แกะ ม้า อูฐ กวาง และช้าง เป็นต้น

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อชนิดนี้สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้ โดยที่สัตว์ไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียด สัตว์จะแสดงอาการป่วย และขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนอาหารและน้ำ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในดินที่ชื้นแฉะ หรือในน้ำได้นานหลายชั่วโมง ถึงหลายวัน

การติดต่อ เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ การระบาดของโรคจะเกิดได้ง่ายในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ขาดสารอาหาร การจัดการการเลี้ยงที่ไม่ดี หรือการเคลื่อนย้ายสัตว์

อาการ ลักษณะสำคัญของโรค สัตว์จะหายใจหอบลึก มีเสียงดัง ยืดคอไปข้างหน้า คอ หรือหน้าบวม แข็ง อัตราการป่วยและอัตราการตายสูง สัตว์อาจตายทันทีก่อนแสดงอาการให้เห็น หรือถ้าป่วยเรื้อรัง จะแสดงอาการนาน อาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ มีไข้สูง น้ำลายไหลฟูมปาก หยุดกินอาหาร ซึม หายใจถี่ ระยะแรกท้องผูก ต่อมาท้องร่วง อาจมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ สัตว์จะตายภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการแบบเรื้อรัง สัตว์ป่วยจะมีชีวิตได้นานประมาณ 3-4 เดือน สุขภาพทรุดโทรม มีโรคแทรกซ้อน

การป้องกัน ทำได้โดยการฉีดวัคซีนให้สัตว์ที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง และดูแลด้านการจัดการและสุขาภิบาลให้ดี

 

3.โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ ไข้ฉี่หนู เป็นโรคที่พบได้ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด มักพบการระบาดของโรคมากในช่วงหลังการเกิดน้ำท่วม

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

การติดต่อ จากการสัมผัส ปัสสาวะ เลือด ซากสัตว์ป่วย ลูกสัตว์ที่แท้ง หรือตายแรกคลอด หรือสัมผัสเชื้อในสิ่งแวดล้อม เช่น ในแอ่งน้ำที่ชื้นแฉะ หรือในทุ่งนา เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกต่างๆ เช่น ปาก ตา จมูก หรือทางผิวหนังที่เปื่อยเนื่องจากแช่น้ำนาน นอกจากนี้สามารถติดต่อจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมถึงการหายใจเอาละอองที่มีเชื้อปะปนอยู่

อาการ แบ่งเป็น แบบเฉียบพลัน คือ มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อตาอักเสบ อาเจียน ท้องเสีย มีเลือดออก ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ตับโต ไตวาย เต้านมอักเสบ และมีอาการทางระบบประสาท ส่วนแบบเรื้อรัง เชื้อจะไปอยู่ที่ไต ทำให้ไตอักเสบ และขับเชื้อออกมาทางปัสสาวะ

การป้องกัน ลดการแพร่โรคโดยการควบคุมหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง ปรับปรุงการสุขาภิบาลในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และที่อยู่อาศัย เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม

 

4.โรคพี อาร์ อาร์ เอส หรือ โรค เพิร์ส เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจของสุกร ก่อให้เกิดความเสียหายในแก่สุกรแม่พันธุ์ สุกรอนุบาล และสุกรขุน แม่สุกรผสมติดยาก เกิดการแท้งในช่วงท้ายของการตั้งท้อง การตายแรกคลอด เป็นมัมมี่ และทำให้ลูกสุกรเกิดใหม่อ่อนแอ อัตราการเข้าคลอดต่ำ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อัตราการตายสูงในลูกสุกรดูดนมและหย่านม แม่สุกรกลับสัดช้าลง อย่างไรก็ตามในสุกรบางฝูงอาจไม่แสดงอาการป่วย

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

การติดต่อ โดยการกินหรือสัมผัสสุกรป่วยโดยตรง ทางผสมพันธุ์ และที่สำคัญ คือเชื้อจะปนเปื้อนกับรถขนสุกรหรือซากสุกรได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้จะถูกขับทางน้ำมูก อุจจาระและน้ำเชื้อของสุกรที่ติดเชื้อ

อาการ สุกรหย่านมแสดงอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ และแม่สุกรแสดงอาการทางระบบสืบพันธุ์ เช่น แท้งลูก และตายแรกคลอด เป็นต้น นอกจากนี้สุกรจะแสดงอาการป่วย มีไข้ นอนสุมกัน   ตัวแดง ไม่กินอาหาร

การป้องกัน การจัดการฟาร์มและสุขาภิบาลที่ดี และไม่ใช้วัคซีนป้องกันโรคจากแหล่งผลิตที่ไม่มีการรับรองมาตรฐานเช่นวัคซีนจากประเทศจีน เนื่องจากอาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่และก่อให้เกิดโรคระบาดภายหลังฉีดวัคซีนซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเกษตรกรอย่างรุนแรงได้

             ดังนั้นเกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคาป้องกันฝน ลม ละอองฝนได้เป็นอย่างดี มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง และที่สำคัญต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งเข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม และเข้มงวดเรื่องคนงานในเล้า หรือ คอกสัตว์ ห้ามปะปนกับส่วนอื่น รวมทั้งเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ควรกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอทันที เพื่อตรวจสอบโดยเร็ว และลดความเสียหายจากโรคระบาด

            ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ให้คำแนะนำดูแลด้านสุขภาพสัตว์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามเขตจังหวัด และเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดสัตว์อย่างเข้มงวด ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ เช่นเสบียงพืชอาหาร ขนย้ายสัตว์ รักษาพยาบาลสัตว์ เพื่อบรรเทาความทุกข์ให้กับเกษตรกรอีกด้วย.

                                        ...........................................................................

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์