เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์แจ้งจับ 2 ฟาร์มหมูในนครปฐมข้อหาใช้สารต้องห้าม(99/2555)

ในวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2555 กรมปศุสัตว์ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ให้จับและดำเนินคดีฟาร์มหมู 2 ราย ข้อหาฝ่าฝืน พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 ใช้   สารต้องห้ามผสมในอาหารเลี้ยงหมู พร้อมขอความร่วมมือผู้ที่พบเห็นการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (สารเร่งเนื้อแดง) หรือสารต้องห้ามเลี้ยงสุกร รวมทั้งการลักลอบนำเข้า และซื้อ-ขายสารดังกล่าว ให้แจ้งเบาะแสได้ที่กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4555 ในวัน และเวลาราชการ โดยจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งไว้เป็นความลับ ซึ่งหากรายใดศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับแล้ว ผู้แจ้งจะได้รับรางวัลสินบนนำจับด้วย

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ โดยคณะทำงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ในสุกร ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จำนวน 2 ราย     ในข้อหาใช้สารต้องห้ามผสมอาหารเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ คือ ซัลบูทามอล (Salbutamol) ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 มาตรา 6(5),57 ซึ่งจะระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ การใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์(สารเร่งเนื้อแดง) หรือสารต้องห้ามตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 ผสมในอาหารเลี้ยงสุกรนั้น จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และเป็นการทรมานสัตว์ด้วย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2554 กรมปศุสัตว์ โดยคณะทำงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ในสุกร ได้จับกุมผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 ที่แจ้งความดำเนินคดีแล้วถึง 50 ราย ดำเนินการตรวจสอบฟาร์มสุกรทั่วประเทศ จำนวน 21,925 ฟาร์ม เก็บตัวอย่างปัสสาวะ จำนวน 54,461 ตัวอย่าง พบผลบวก จำนวน 1,820 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 3.34) ตรวจโรงฆ่าสัตว์ จำนวน 1,855 ราย และทำการกักสุกร จำนวน 50,568 ตัว ไม่ให้เข้าสู่โรงฆ่าจนกว่าจะมีผลปัสสาวะเป็นลบ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ Food Safety ของรัฐบาล และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการสุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะสุกร อาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรในฟาร์ม หรือตลอดจนเนื้อและเครื่องในสุกรในโรงฆ่าสัตว์ ส่งห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ และสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ จำนวน 8 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาสารต้องห้ามดังกล่าวข้างต้น อย่างสม่ำเสมอ หากตัวอย่างปัสสาวะมีผลเป็นบวก จะให้กักสุกรไว้     และเก็บตัวอย่างปัสสาวะตรวจจนกว่าจะมีผลเป็นลบ จึงให้เคลื่อนไปสู่โรงฆ่าได้ ในกรณีที่ตัวอย่างอาหารเลี้ยงสุกรมีผลตรวจเป็นบวก    กรมปศุสัตว์จะเข้าแจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการหรือเจ้าของฟาร์มรายนั้น  โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่ผลตรวจตัวอย่างเครื่องในสุกรที่เก็บจากโรงฆ่าพบสารดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายสุกรตัวนั้นทันที ไม่ให้นำไปจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผู้บริโภคให้ห่างไกลจากสารต้องห้ามที่มีอันตรายต่อร่างกายด้วย

ดังนั้น หากท่านใดทราบเบาะแสการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ หรือสารต้องห้ามผสมในอาหารเลี้ยงสุกร รวมทั้งลักลอบนำเข้า หรือซื้อ-ขายสารต้องห้ามดังกล่าว กรุณาแจ้งให้กรมปศุสัตว์ทราบโดยทางโทรศัพท์เบอร์ 0-2653-4555 ในวัน และเวลาราชการ หรือส่งจดหมายไปที่ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ 69/1 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ซึ่งกรมปศุสัตว์จะเก็บข้อมูลเป็นความลับ และหากคดีใดศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับแล้ว ผู้ที่แจ้งจะได้รับรางวัลนำจับด้วย

-----------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์                                              ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม กลุ่มเผยแพร่ฯ สสส.