นายสัตวแพทย์ อยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการสัมมนา พร้อมมอบนโยบาย “แนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการปศุสัตว์ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ” ในวันทื่ 23 สิงหาคม 2555 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ โดยนายธานี ภาคอุทัย หัวหน้ากลุ่มความร่วมมือการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กล่าวรายงาน และมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสัมมนา กว่า 100 คน
รองอธิบดีฯ อยุทธ์ กล่าวว่า ในปี 2558 ประเทศไทยพร้อมด้วยประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเชียนอีก 9 ประเทศจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) กรมปศุสัตว์ซึ่งมีภารกิจในการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านการปศุสัตว์ เพื่อให้มีปริมาณสัตว์เพียงพอ มีมาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค สารตกค้างและสารปนเปื้อน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ได้ดำเนินภารกิจเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ การจัดทำแผนกำจัดโรคสัตว์ต่างๆ ตามที่ OIE กำหนด พัฒนาโรงงานผลิตวัคซีนให้ได้มาตรฐาน GMP จัดทำ MODEL โรงฆ่าสัตว์ปีกและสุกร ขนาดเล็ก สร้างและขยายฟาร์มเครือข่ายของเกษตรกรเพื่อผลิตสัตว์พันธุ์ดี จำหน่ายพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสมกับราคาตลาด ประสานกับสหกรณ์โคนมเรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้บริการผสมเทียมโคนมแก่เกษตรกร เร่งรัดดำเนินการโครงการผลิตเนื้อโคพันธุ์ดี สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์และหาแนวทางในการส่งออก เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ส่งออก นำไปขยายขีดความสามารถในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ส่งออกสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐานถูกหลักอนามัย ต่อไป
“ กรมปศุสัตว์เล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงได้มีการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้านการปศุสัตว์ เพื่อเสนอมาตรการและแนวทางการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์สำหรับรองรับผลกระทบการเข้าสู่ AEC ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยเร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแก่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนผ่านสื่อประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ตามข้อตกลงอย่างเต็มที่ รวมทั้งมอบหมายให้ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้สอดแทรกให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC แก่ข้าราชการและเกษตรกรตามโอกาสที่เหมาะสม อาทิ การประชุมของหน่วยงาน การอบรมเกษตรกร ฯลฯ รวมทั้งเร่งออกมาตรการ/แผนรองรับผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อตกลง เช่น การทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฏระเบียบ มาตรการทั้งในส่วนที่อำนวยความสะดวกทางการค้าและปกป้องการนำเข้าสินค้าที่อาจเพิ่มขึ้น ทั้งยังเจรจาเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ เช่น การประสานงานเกี่ยวกับกฏ ระเบียบ วิธีการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการประสานด้านมาตรฐานต่างๆ ทั้งยังเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และกำหนดแนวทางการเจรจามากขึ้น โดยเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งยังมีประสบการณ์ มีความเข้าใจ เช่น การอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ในประเทศเพื่อให้เท่าเทียมกับมาตรฐานสากล เนื่องจากความปลอดภัยของอาหารยังคงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศสมาชิก ประเทศไทยจึงต้องพัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารให้เท่ากับมาตรฐานสากล ทั้งยังมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการทดสอบอาหารของอาเซียนให้มีบทบาทเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายระหว่างประเทศสมาชิก เป็นห้องปฏิบัติการด้านยาสัตว์ตกค้างเพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยด้านอาหาร กฏ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้ห้องปฏิบัติการอื่นในภูมิภาค ส่งเสริม แนะนำเกษตรกร ผู้ประกอบการป้องกันโรคในฟาร์มระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Farm Biosecurity) ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมโรคที่ถูกที่สุดและได้ผลดีที่สุด ที่สำคัญระบบนี้ต้องมีการแยกส่วนระหว่างบริเวณปลอดเชื้อและไม่ปลอดเชื้อ มีการพัฒนาด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์นำเข้าประเทศ ป้องกันสินค้าปศุสัตว์ที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาสร้างปัญหา ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพ และการตรวจวิเคาะห์ ชันสูตรโรคสัตว์ ให้การรับรองศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในการผลิตน้ำเชื้อ โคเนื้อ โคนม กระบือ และสุกร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการในการป็นศูนย์กลางผลิตน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ในอาเซียน มีการผลักดันเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทางพันธุกรรมสัตว์โดยการขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใดนำพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของไทยไปแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าโดยมิได้รับอนุญาติ และถ้านำไปใช้ประโยชน์ต้องมีแนวทางการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันประโยชน์จากพันธุกรรมสัตว์ให้ได้รับทั้งสองฝ่าย ต้องพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการปศุสัตว์ โดยส่งเสริมให้บุคลากรผลิตองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย การปฏิบัติงานที่ดี (Best Practice) รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในหน่วยงานอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาบุคลากรทุกระดับ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการปศุสัตว์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ให้คำปรึกษา แนะนำแก่มวลสมาชิกได้ พัฒนาความร่วมมือด้านปศุสัตว์ระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ กับ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization of Animal Health : OIE) รวมถึงความสำเร็จจากการร่วมมือจัดทำโครงการป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ” รองอธิบดีกล่าว
******************************
ข้อมูล : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์