ตั้งแต่มีรายงานเกิดโรคไข้หวัดนกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 ที่ฟาร์มไก่ไข่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และจากนั้นโรคได้มีการแพร่ระบาดออกไปในหลายจังหวัด ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน เป็นผลให้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกลดลงจนกระทั่งไม่พบโรคไข้หวัดนกอีกเลยตั้งแต่ในปลายปี 2551 เป็นต้นมา
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกที่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น เกิดจากความร่วมมือแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก ที่จัดทำขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ คือ 1. การจัดระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์ปีก 2. การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคทั้งในสัตว์และคน 3. การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 4. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจและนานาประเทศในการรับมือกับปัญหาโรคไข้หวัดนก
1.การจัดระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์ปีก
มุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการเลี้ยงในสัตว์ปีกพื้นเมืองหรือเลี้ยงแบบหลังบ้าน (back yard) เป็ดไล่ทุ่ง ไก่ชน รวมถึงสนามชนไก่ ซ้อมไก่ให้มีรูปแบบการเลี้ยงที่ดี ถูกหลักวิชาการ และสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ มีการจัดระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์หรือมาตรฐานฟาร์ม และการจัดทำระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกแบบคอมพาร์ทเมนต์ (compartmentalisation) เพื่อให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ได้ดำเนินมาตรการควบคุม และตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของโรคไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยกำหนดให้มีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศจำนวน 152 จุด และจุดตรวจระหว่างโซนการเลี้ยงสัตว์ปีกจำนวน 21 จุดตรวจ โดยมีการตั้งจุดตรวจครอบคลุมตามแนวชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งในสนามบิน ท่าเรือต่างๆ และมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตไก่ไทยมีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะตลอดสายการผลิต กรมปศุสัตว์ได้จัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) โดยใช้ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการประมวลผล เพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกได้
2.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคทั้งในสัตว์และคน
มุ่งเน้นการปรับปรุงระบบการควบคุมและป้องกันโรคในสัตว์ปีก โดยดำเนินการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านการควบคุม ป้องกันโรค การสอบสวนโรค การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การตรวจวินิจฉัยโรค และด้านระบาดวิทยา เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Avian Influenza Investigation Team (AIIT)) ในระดับอำภอจนถึงระดับจังหวัด เพื่อความรวดเร็วในการสอบสวนและควบคุมโรค มีการซ้อมแผนปฏิบัติงานทั้งชนิดซ้อมบนโต๊ะ (Table top Exercise) และซ้อมแผนการปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อให้บุคลาการมีความเข้าใจตรงกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล การรายงานโรคไข้หวัดนกในรูปแบบ Realtime มีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติประจำวันทุกวัน และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก website ของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกัน
ในส่วนของการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับส่วนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีมีการแพร่ระบาดของโรค มีการสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ระดับหมู่บ้าน และตำบลโดยมีการพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่มากขึ้น ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยจัดทีมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าตรวจสอบสัตว์ปีกในทุกหมู่บ้าน เพื่อดูอาการสัตว์ปีก หากพบป่วยหรือตายมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดนกจะควบคุมโรคทันที มีการรณรงค์ทำความสะอาด และทำลายเชื้อโรค ปีละ 4 ครั้ง ในพื้นที่เสี่ยง โดยใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของการควบคุมโรค เมื่อมีโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้น สัตวแพทย์จะดำเนินการทำลายสัตว์ปีกจุดที่เกิดโรคทันที พร้อมทั้งสำรวจค้นหาโรคเพิ่มเติม และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกในรัศมี 10 กิโลเมตร เกษตรกรจะได้รับค่าชดใช้ในการทำลายสัตว์ 75% ของราคาสัตว์จากงบภัยพิบัติฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 โดยการสั่งทำลายเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีชุดเฉพาะกิจในการควบคุมโรคประจำเขต 9 เขตเพื่อปฏิบัติงานที่เร่งด่วนอีกด้วย
3.การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข
4.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจและนานาประเทศในการรับมือกับปัญหาโรคไข้หวัดนก
มีการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนก มีการสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรและสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย เช่น สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ซึ่งปัจจุบันมี 27 แห่ง 22 จังหวัด ซึ่งทำให้มีความเข้มแข็งด้านการผลิต และการตลาด การรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยจัดทำเป็นฟาร์มสาธิต 3,548 ฟาร์ม พร้อมมีเครือข่ายผู้เลี้ยงสัตว์ปีก 106,440 ราย ทั่วประเทศ
การมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ทั้งสัตว์ปีกเนื้อ สัตว์ปีกไข่ และสัตว์ปีกพันธุ์ ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการหารือกันทั้งด้านการผลิต การตลาด การป้องกันโรคระบาดต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ นอกจากนี้มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี องค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สหภาพยุโรป (EU) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยร่วมมือทั้งในด้านงานศึกษาวิจัย การเตรียมพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องด้วย
.......................................................................................
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
เรียบเรียง และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ