อธิบดีกรมปศุสัตว์ เน้นพัฒนาปศุสัตว์ต้นพันธุ์ดี ให้มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และสนับสนุนเกษตรกรสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อก้าวเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์ในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรีแล้ว ในด้านเกษตรกรไทยต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เข้าสู่ระบบ GAP (Good Agricultural Practice) และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต รวมกลุ่มเพื่อใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน ผลิตสินค้าที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะและหลากหลาย โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์เองได้เน้นด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่เกษตรกรและพัฒนาสัตว์พันธุ์ดี นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่สากล สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรอีกด้วย
ความก้าวหน้าด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าทางด้านการเลี้ยงสัตว์ในทุกชนิดเชิงการค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากที่ผ่านเราได้มีการเตรียมความพร้อมโดยสนับสนุนให้มีเกษตรกรและนักวิชาการที่ชำนาญการเลี้ยงสัตว์ มีฐานพันธุกรรมสัตว์ดี ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์จนสามารถปรับตัวเข้าสู่สภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบอาเซียนได้เป็นอย่างดี จนทำให้ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AEC สนใจนำเข้าสัตว์พันธุ์ดีจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อการปรับปรุงพันธุ์และเพื่อการบริโภคได้อย่างเสรี ส่งผลให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงสัตว์ทั้งเพื่อการบริโภค และเพื่อการส่งออกมากขึ้น
สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ มีบทบาท และภารกิจในด้านการพัฒนาศักยภาพของการผลิตสัตว์ให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ ได้รับใบรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้นพันธุ์ดี ให้มีการผลิตปศุสัตว์พันธุ์ดี เป็นฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปศุสัตว์ต้นแบบ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อการศึกษาดูงานของประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็น focal Point ของกรมปศุสัตว์ในการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานการผลิตที่ดี ร่วมกับ สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตปศุสัตว์ที่มีความสำคัญทางการค้ามีศักยภาพทางการค้า เพื่อผลักดันให้เป็นมาตรฐานอาเซียน ในการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตเดียวกันโดยยึดหลักให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล อีกทั้งพัฒนาฟาร์มเครือข่ายปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เครือข่ายการผลิตสัตว์ เครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ให้มีการดูแลสัตว์ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการผลิตสัตว์ที่ดี ให้มีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และร่วมวิเคราะห์ข้อมูลกับกรมปศุสัตว์ ขยายเครือข่ายความร่วมมือการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และรับรองพันธุ์สัตว์ในระดับภูมิภาค และสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนา คือการมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นเครือมือใน การตัดสินใจ จึงมีการเร่งด้านการพัฒนาฐานข้อมูลปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขันด้านการปับปรุงพันธุ์สัตว์ พัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนและรับรองพันธุ์สัตว์ของประเทศ เพื่อรับรองพันธุ์สัตว์ รับรองระดับสายเลือด รับรองพันธุ์ประวัติ และรับรองลักษณะและพันธุกรรมด้านผลผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สัตว์พันธุ์ของประเทศไทย
การพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานและเพิ่มความเข้มแข็งของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ ให้สามารถรองรับการศึกษาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ สร้างพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์พื้นเมือง วิจัยต่อยอดการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เหมาะสม สำหรับใช้ในประเทศและการส่งออกสู่ประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วิจัยการผลิตสัตว์ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำเสียจากฟาร์มหรือบริการจัดการของเสียให้เป็นพลังงานชีวภาพ ทั้งนี้ เกษตรกรไทยต้องพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย ของสินค้าปศุสัตว์ในระดับต้นน้ำ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ จึงต้องพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติทางการผลิตสัตว์ที่ดี เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการผลิตสัตว์ และผลักดันให้เป็นมาตรฐานอาเซียน พัฒนาฟาร์มเครือข่าย จัดทำฐานข้อมูลปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียน และรับรองพันธุ์สัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าปศุสัตว์ ให้เกิดความแตกต่างในกลุ่มผลิตและตลาดต่อไป
.................................................................................
ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ กรมปศุสัตว์