นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง งานพระราชพิธี พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2556 ว่า ในปีนี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วย พระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นวันสวดมนต์เริ่มการ พระราชพิธีพืชมงคล (วันเกษตรกร) อันเป็นพิธีสงฆ์ ประกอบพระราชพิธีในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2556 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับในวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธี คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2556 ประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็น พระราชพิธีซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก โดยกำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี อันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา
ในปีพุทธศักราช 2556 นี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวสุมาลี จำเริญ นิติกรชำนาญการ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวพชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง นางสาวกาญจนา มาลัยกฤษณะชาลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ ฟ้า และ ใส พระโคสำรอง ได้แก่ มั่น และ คง
พระโค ในทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และหมายถึงสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดั้งนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้เข้าร่วมพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลฯ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม. ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 ซม. ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 ซม. โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้องลักษณะที่ดี กีบข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
พระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคฟ้าและพระโคใส พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคมั่น และพระโคคง
พระโคฟ้า มีความสูง 171 ซม. ความยาวลำตัว 230 ซม. ความสมบูรณ์รอบอก 225 ซม. อายุ 10 ปี
พระโคใส มีความสูง 173 ซม. ความยาวลำตัว 240 ซม. ความสมบูรณ์รอบอก 215 ซม. อายุ 10 ปี
พระโคแรกนาขวัญเป็นโคพันธุ์ไทยพันธุ์ขาวลำพูน ซึ่งเป็นโคที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่เกษตรกรภาคเหนือ มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำเขาเป็นลำเทียน โค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืน และเดินสง่า
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ขณะนั้น)บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคฟ้า แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และใช้เป็นพระโคสำรองประจำปีพุทธศักราช 2551 และเป็นพระโคแรกนาขวัญมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2552 เป็นต้นมา
นายยุทธ วัฒนกุล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคฟ้า แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และใช้เป็นพระโคสำรองประจำปีพุทธศักราช 2551 และเป็นพระโคแรกนาขวัญมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2552 เป็นต้นมา ” อธิบดีกล่าว
*********************************************
ข้อมูล : กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์