เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านปศุสัตว์ (62/2556)

                การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2556 ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ดีเด่นแห่งชาติ (เลี้ยงแพะเนื้อแพะนม) คือ นายอาหะมะ อาลีมะส๊ะ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 5 ตำบลกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา

                 นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ว่า เดิมนายอาหะมะฯ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและมีอาชีพเสริมคือ การเลี้ยงแพะ โดยเริ่มเลี้ยงแพะครั้งแรก 8 ตัว ด้วยมีใจรักและผูกพันกับการเลี้ยงสัตว์และเป็นคนที่แสวงหาความรู้อยู่เสมอ จึงได้รับเลือกจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลาให้เป็นอาสาปศุสัตว์ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรักษา ป้องกันโรค การสุขาภิบาลสัตว์ และนำความรู้ไปช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เมื่อมีความรู้ทางด้านการเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้น จึงเล็งเห็นว่าการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี และได้เพิ่มปริมาณแม่แพะขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในปี 2547 สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเลี้ยงแพะในจังหวัดยะลา โดยกลุ่มผู้เลี้ยงแพะได้รับการสนับสนุนแพะจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ 23 ตัว (เพศเมีย 20 ตัว เพศผู้ 3 ตัว) การเลี้ยงแพะของกลุ่มเป็นแบบคอกรวมทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้แบ่งแพะของกลุ่มให้สมาชิกนำไปเลี้ยง นายอาหะมะ ได้รับแม่พันธุ์ 3 ตัว และด้วยความเป็นคนอดทนขยันหมั่นเพียรและไขว่คว้าหาความรู้อยู่เสมอทำให้เข้าใจกระบวนการและขั้นตอนในการเลี้ยงแพะเป็นอย่างดีจึงตัดสินใจเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก 
              นายอาหะมะ มีแนวคิดริเริ่มในการปรับปรุงพันธุ์แพะและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยซื้อแพะนม มาอีก 17 ตัวเพื่อมาผสมกับแม่แพะเนื้อที่เลี้ยงในฟาร์มสร้างแพะลูกผสมเนื้อ-นม ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ในขณะเดียวกันแม่แพะมีน้ำนมเพิ่มขึ้นสามารถนำมาเลี้ยงลูกแพะแรกคลอดเพื่อลดอัตราการตายของแพะแรกคลอด นอกจากนี้ ยังนำนมแพะที่รีดได้ไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว นายอาหะมะ ได้พัฒนาการเลี้ยงแพะอย่างต่อเนื่องจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในชุมชน ต่อมาได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ โดยได้รับสนับสนุนแพะเนื้อจากโครงการฯ 53 ตัว (เพศเมีย 50 ตัว เพศผู้ 3 ตัว) และพัฒนาการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมี แพะเนื้อ 109 ตัว แพะนม 41 ตัว มีผลผลิตจากการเลี้ยงแพะที่สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว โดยมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำนมเป็นรายวัน จากการจำหน่ายแพะเนื้อเป็นรายเดือนและรายปี มีมูลแพะเป็นเงินออม มีบ่อแก๊สชีวภาพเพื่อลดรายจ่ายและลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังมีเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเลี้ยงแพะในพื้นที่โดยแบ่งปันแพะในฟาร์มและรับซื้อผลผลิตคืนอีกด้วย  ผลงานและความสำเร็จของงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ นายอาหะมะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านพันธุ์โดยมีผลงานชนะการประกวดทั้งระดับจังหวัดและเขต ด้านอาหารสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่มาปรับใช้เป็นอาหารแพะ อาทิ  การหมักต้นข้าวโพด กากใบปาล์ม ซังข้าวโพด ต้นสาคู เป็นต้น การจัดการด้านสุขภาพแพะมีการเตรียมเสบียงสำรองไว้ใช้ช่วงขาดแคลน ด้านการป้องกันโรค เน้นสุขาภิบาล ถ่ายพยาธิ ด้านการจัดการฟาร์มได้ปรับปรุงเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ มีการแยกเลี้ยงระหว่าง คอกขุน คอกพ่อ - แม่พันธุ์ ฯลฯ   
                        “ นายอาหะมะ เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำและเสียสละในชุมชนซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างรากฐานหรือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนด้านการเลี้ยงแพะ ซึ่งได้สร้างเครือข่ายการเลี้ยงแพะในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งยังเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เป็นอาสาปศุสัตว์ด้านการผสมเทียม เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเลี้ยงแพะของกรมปศุสัตว์เพื่ออบรมความรู้และเป็นสถานที่ศึกษา   ดูงานให้แก่เกษตรกรทั่วไป เป็นประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลกรงปินัง ส่งเสริมเยาวชนสร้างรายได้จากการเลี้ยงแพะ รวมทั้งสนับสนุนพันธุ์แพะให้เยาวชนนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม อีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์เชิงบูรณาการ โทร. 0 – 2653 – 4477” อธิบดีกล่าว

*********************************************

ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์เชิงบูรณาการ   สสส. กรมปศุสัตว์

ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์