เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

ฟาร์มโคนมสาธิตสวนจิตรลดาปลอดโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส (61/2556)

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ฟาร์มโคนมสาธิตสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ที่ส่งเสริมและเผยแพร่อาชีพการเลี้ยงโคนม สาธิตการดำเนินงานอันเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกร ฟาร์มนี้จึงเป็นฟาร์มต้นแบบของเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการป้องกันและควบคุมโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากฟาร์มนี้มีระบบการป้องกันโรคที่ดี และได้รับการเฝ้าระวังทดสอบโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส อย่างต่อเนื่อง โดยผลการทดสอบให้ผลลบทุกครั้ง ซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การรับรองสถานภาพฟาร์มปลอดโรคทุกประการ กรมปศุสัตว์จึงขอมอบหนังสือรับรองสถานภาพฟาร์มปลอดโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิสแก่ฟาร์มโคนมสาธิตสวนจิตรลดาเพื่อเป็นแบบอย่าง รวมทั้ง เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย

โรคระบาดสัตว์ที่สำคัญซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการผลิตสัตว์ และก่อให้เกิดปัญหาทางสัตวแพทย์สาธารณสุขที่เป็นปัญหาอยู่ในประเทศไทย คือ โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) โรควัณโรค (Tuberculosis) และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส (Paratuberculosis)

          โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) เป็นโรคระบาดที่สำคัญของโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Brucella spp. เมื่อสัตว์เป็นโรคนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ โดยทำให้ผสมไม่ติด อาจถึงขั้นเป็นหมัน หรือหากผสมติด ก็มีโอกาสที่จะแท้งลูกและรกค้าง ในโคนมจะน้ำนมลด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเต้านมอักเสบ และที่สำคัญโรคนี้ยังเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนด้วย โดยการบริโภคน้ำนมจากสัตว์ที่เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการป่วยชัดเจน โดยผู้ป่วยจะมีอาการ 2 แบบคือ แบบเฉียบพลัน จะมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกผิดปกติเวลากลางคืน เบื่ออาหาร ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ แบบเรื้อรังจะมีอาการป่วยเล็กน้อย

          โรควัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่พบในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ สัตว์ที่เป็นโรคจะแสดงอาการให้เห็นหลังจากได้รับเชื้อมาเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน โดยส่วนใหญ่จะพบว่าสัตว์ป่วยอ่อนแอ ผอม น้ำหนักลด และตายในที่สุด คนได้รับเชื้อวัณโรคได้หลายทาง ทั้งทางลมหายใจ ดื่มน้ำนมสัตว์ที่ป่วย คนป่วยจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอถี่ ไอรุนแรง เสมหะมีเลือดปน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก การรักษาจะใช้เวลานาน ในรายที่ป่วยถึงขั้นรุนแรงจะตายในที่สุด

         โรคพาราทูเบอร์คูโลสิส (Paratuberculosis) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ สัตว์ที่ได้รับเชื้อมักจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ทางอุจจาระ สัตว์จะผอม ท้องเสียอย่างเรื้อรัง กินน้ำบ่อย น้ำหนักลด ขาดอาหาร และตายในที่สุด

             จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 โรค ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตัวสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และประชาชนผู้บริโภค ทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจการปศุสัตว์ และการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการสร้างสถานภาพฟาร์มปลอดโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิสในฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และฟาร์มโคนมของเกษตรกรขึ้นร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการควบคุม และกำจัดโรคดังกล่าวให้หมดไปจากประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดปัญหาด้านการสาธารณสุขจากการให้ประชาชนได้บริโภคน้ำนม และเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพปราศจากเชื้อโรค ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาสัตว์ที่เป็นโรค เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์ และสามารถกระจายพันธุ์สัตว์ที่ดี และปลอดภัยจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน 

สำหรับหลักเกณฑ์การรับรองสถานภาพฟาร์มปลอดโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส สำหรับเกษตรกร คือ ประการที่หนึ่ง ฟาร์มจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนม ซึ่งมีระบบการป้องกันและควบคุมโรคอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล หรือวิชาการทางด้านสัตวแพทย์ (Biosecurity) เช่น 

- ต้องมีรั้วล้อมรอบและป้ายเตือนห้ามเข้าที่ประตูทางเข้า 

- ห้ามบุคคลภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรับซื้อโค มูลโค เข้าสถานที่เลี้ยงโคนม หรือหากจำเป็นให้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และเปลี่ยนรองเท้าสำหรับใช้ภายในสถานที่เลี้ยงโคนมเท่านั้น

 - พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรครถทุกคันที่บริเวณทางเข้าฟาร์ม

- ห้ามรถซื้อ-ขายโค รถขนส่งน้ำนมดิบ รถอาหารสัตว์จากภายนอกฟาร์ม เข้าใกล้สถานที่เลี้ยงโคนม และสถานที่รีดนมเด็ดขาด หากจำเป็นให้ทำการล้าง และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าสถานที่เลี้ยง

- มีรถขนถังนมและอาหารที่ใช้ภายในฟาร์มเพื่อไม่ให้รถขนส่งนมและรถอาหารเข้าฟาร์ม

- มีบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับจุ่มเท้าอยู่ด้านนอกสถานที่เลี้ยงโคนมและสถานที่รีดนม โดยลักษณะของบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อต้องมีขนาดเหมาะสมและยาฆ่าเชื้อโรคต้องไม่โดนแสงแดด

- มีรองเท้าบู้ทเปลี่ยนก่อนเข้าสถานที่เลี้ยงโคและสถานที่รีดนม

- ล้างและทำลายเชื้อโรคที่ถังนมทุกครั้งก่อนนำเข้าฟาร์ม โดยจัดให้มีสถานที่ล้างและทำลายเชื้อโรคถังนมภายนอกสถานที่เลี้ยงโคนมและสถานที่รีดนม

- จัดที่สำหรับขายลูกโคบริเวณหน้าฟาร์ม

- มีระบบการจัดเก็บข้อมูลสัตว์เป็นรายตัว

ประการที่สอง ต้องมีการทดสอบโรคเพื่อรับรองสถานภาพฟาร์ม

- สัตว์ภายในฟาร์มทุกตัวที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับการทดสอบโรค

- การตรวจวินิจฉัยโรคจะต้องดำเนินการตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดเท่านั้น

 - การทดสอบโรคจะต้องดำเนินการทุกปี จนกระทั่งไม่พบโรคในสัตว์ทุกตัวที่ตรวจวินิจฉัย หรือผลการทดสอบโรคเป็นลบติดต่อกัน 2 ครั้ง

 อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่ได้รับหนังสือรับรองฟาร์มปลอดโรค และใบแจ้งผลการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์เป็นรายตัวจากกรมปศุสัตว์ จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสัตว์ เกษตรกรจะมีความปลอดภัยจากการป่วยด้วยโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถผลิตน้ำนมที่ปลอดภัยจากเชื้อโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และแหล่งรับนม นอกจากนี้ ยังลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของเกษตรกร จากผลเสียหายของการเป็นโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส เช่น ปัญหาการผสมไม่ติดในสัตว์ที่เป็นโรคแท้งติดต่อ และการมีสัตว์ป่วยภายในฟาร์มเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีฟาร์มปลอดโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค และโรคพาราทูเบอร์คูโลสิส จำนวนทั้งสิ้น 5,183 ฟาร์ม ทั้งนี้ เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ หรือผู้ที่สนใจสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ 

************************************************************************

ข้อมูล / ข่าว : ส่วนโรคสัตว์เคี้ยวเอื้อง สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ 

เผยแพร่ : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์