กรมปศุสัตว์จัดอบรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านหลักการฮาลาล รวมถึงกระบวนการขอรับรองฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการได้รับทราบ และผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารฮาลาลได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
สัตวแพทย์หญิงวิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเป้าหมายเป็นนโยบายที่สำคัญเพื่อการยกระดับมาตรฐานการบริโภคของประชาชน รวมถึงมาตรฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังต่างประเทศ และเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลาดผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เป็นตลาดขนาดใหญ่มีมูลค่าการตลาดประมาณ 2 ล้านล้านบาท สำหรับประชากรมุสลิม 1,800 ล้านคนกระจายใน 150 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลกลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญและสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศไทย ซึ่งมุ่งหวังจะก้าวขึ้นเป็นครัวของโลก การแข่งขันทางด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลประสงค์จะผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการแข่งขันทางการค้าในระดับโลกได้ ทั้งนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นทุกปี แต่เมื่อเปรียบเทียบตลาดอาหารฮาลาลของโลกนั้นประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไปยังประเทศต่างๆ 57 ประเทศ มีมูลค่าเพียง 204,600ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าฮาลาลทั้งภายในประเทศและการส่งออกอีกมาก จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องหาหนทางยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ซึ่งมีความซับซ้อน ทั้งในส่วนของหลักการตามศาสนาและในส่วนของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล และเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคของเรากำลังเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และมีนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยปีละกว่า 14ล้านคนการเป็นประชาคมอาเซียนนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารฮาลาลซึ่งมีประชากรมุสลิมอยู่จำนวนมากในกลุ่มประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งอาหารฮาลาลมิใช่อาหารสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นอาหารที่สะอาด ปลอดภัยทุกคนสามารถบริโภคได้ กรมปศุสัตว์ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์และกระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์ การขนส่ง โรงฆ่าสัตว์ตลอดจนถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้มีความสะอาดถูกสุขลักษณะ และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้ทัดเทียมหรือสูงกว่า รวมทั้งต้องผลิตให้เป็นไปตามหลักการอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นอาหารที่มีความสะอาด ปลอดภัย และเป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศ นักท่องเที่ยว และประเทศคู่ค้า แนวทางการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ตามหลักการฮาลาล ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้า-ปศุสัตว์ กล่าวว่า ตั้งแต่กรมปศุสัตว์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2545 มาจากกระทรวงมหาดไทย โดยดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีจำนวนโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์และการฆ่าสัตว์ (ฆจส.2) ทั้งสิ้น จำนวน 1,619 แห่ง เป็นโรงฆ่าสัตว์ปีก 331 แห่ง โรงฆ่าโคกระบือ 353 แห่งและโรงฆ่าสุกรโค-กระบือ 225 แห่ง ซึ่งมีการรับรองฮาลาลสำหรับโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออก เป็นโรงฆ่าสัตว์ปีก 26 แห่ง โรงฆ่าโค-กระบือ 3 แห่งและโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์ 58 แห่ง นอกเหนือจากการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ให้มีการผลิตเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัยแล้ว กรมปศุสัตว์ยังส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลมาโดยตลอด จากข้อมูลในปี 2555 ที่ผ่านมามีการส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ฮาลาล 560,216 ตัน มูลค่า 67,552 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.85 ของสินค้าปศุสัตว์ส่งออก แต่หากเปรียบเทียบตลาดอาหารของโลกที่มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาทนั้น ประเทศมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพียง 204,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1
จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งประเทศไทยมีประชากรผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณสิบล้านคน ซึ่งบางส่วนที่มิใช่ชาวมุสลิมอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันในเรื่องหลักการฮาลาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการผลิตอาหารฮาลาล รวมทั้งผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ หรือผู้บริโภคก็ตาม อาจมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการผลิตและบริโภคอาหารฮาลาล กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากรัฐบาลมาปฏิบัติจึงเห็นความสำคัญในการจัดอบรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านหลักการฮาลาลรวมถึงกระบวนการขอรับรองฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการได้รับทราบ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารฮาลาลได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
---------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น.ส.จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์