เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์จัดอบรมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์สาขาสัตว์ปีก รุ่นที่ 13/56(65/2556)

กรมปศุสัตว์จัดฝึกอบรมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์สาขาสัตว์ปีก รุ่นที่ 13/2556 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสัตวแพทยสภาแล้ว ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2556 เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งประกอบด้วย นายสัตวแพทย์จากภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และภาครัฐบาล จำนวน 100 คน มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา แนะนำแก้ไขปัญหาแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ฟาร์มของผู้ประกอบการเป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานตามระเบียบมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในมาตรฐานเดียวกัน โดยมี สัตวแพทย์หญิง ดร.วิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็น ประธานเปิดการฝึกอบรม ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ ถนนเพชรบุรี กรุงเทพมหานคร

สัตวแพทย์หญิง ดร.วิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตร “สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์” สาขาสัตว์ปีก เพื่อเป็นการเตรียมบุคลากรทางด้านสัตวแพทย์ให้มีความรู้ ความสามารถในการทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพสัตว์ การควบคุมโรค และการควบคุมการใช้ยาสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเหมือนกับเป็นตัวแทนของกรมปศุสัตว์ ในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลักดันให้ฟาร์มสัตว์ปีกเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม โดยปฏิบัติตามระเบียบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก ทั้งยังเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพดี ปราศจากสารตกค้าง ดังนั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งเมื่อได้รับการฝึกอบรมครบถ้วนตามหลักสูตรแล้ว จะได้รับใบอนุญาตเป็นสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีกจากกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายภารกิจและความรับผิดชอบให้กับสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ทั้งในด้านการจัดการฟาร์ม  ด้านสุขภาพสัตว์ การใช้ยาและสารเคมี รวมทั้งวัคซีนในฟาร์ม เพื่อควบคุมไม่ให้มีโรคระบาดสัตว์ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สารเคมีหรือยาตกค้างในเนื้อสัตว์ปีก และเป็นผู้อนุญาตให้สัตว์ปีกเข้าโรงฆ่าสัตว์ปีกได้  โดยกรมปศุสัตว์จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานเท่านั้น ซึ่งภาระหน้าที่ดังกล่าวของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก ถือเป็นความรับผิดชอบที่ไม่อาจละเลยได้ ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบความบกพร่องในหน้าที่ของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม เช่น มีสารตกค้างในเนื้อสัตว์ปีก หรือมีการใช้วัคซีนหรือยาสัตว์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหาย กรมปศุสัตว์จะดำเนินการสอบสวนเพื่อพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และส่งเรื่องถึงสัตวแพทยสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกของกรมปศุสัตว์ประกอบด้วยมาตรฐาน 9 ชนิดสัตว์ ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พันธุ์ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ เป็ดพันธุ์ นกกระทา นกเขาชวาเสียง และสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีก โดยพิจารณาตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกให้ได้มาตรฐานสากล ถูกสุขลักษณะ ปลอดจากโรคระบาดและสารตกค้าง ทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ตลอดจนเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งองค์ประกอบสำคัญตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้มีสัตวแพทย์เป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแลด้านสุขภาพสัตว์ และสุขอนามัยในฟาร์ม ตลอดจนควบคุมการใช้ยาภายในฟาร์ม ตาม มกษ.9032 – 2552 โดยสัตวแพทย์จะต้องได้รับใบอนุญาตควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์จากกรมปศุสัตว์ ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ พ.ศ.2546 ซึ่งสัตวแพทย์จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร “สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มมีความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐานฟาร์มสัตว์ปีก เรื่องการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ปีก โรคระบาดที่สำคัญ และโรคอุบัติใหม่ การใช้ยาภายในฟาร์ม ความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมุมมองภาวะอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การจัดการฟาร์มสัตว์ปีก และสามารถให้คำปรึกษา แนะนำแก้ปัญหาแก่ผู้ประกอบการได้ ที่สำคัญคือ เพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ สาขาสัตว์ปีก ทั้งนี้ สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก ต้องรับผิดชอบในการเป็นผู้ตรวจสอบสุขภาพและอนุญาตให้สัตว์ปีกจากฟาร์มส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก แทนเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 เป็นต้นมา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งของกรมปศุสัตว์ที่จะสร้างความมั่นใจในสินค้าปศุสัตว์ให้กับประเทศคู่ค้าอีกด้วย

-------------------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์                                                                                                                                   ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์