กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสมองทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปีพ.ศ.2563 เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมหนองคาย ไวท์ โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยมี นายสัตวแพทย์วิริยะ แก้วทอง ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556
นายสัตวแพทย์วิริยะ แก้วทอง ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคจากสัตว์มาสู่คนที่สำคัญ คนหรือสัตว์ที่มีอาการป่วยแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าตลอดมา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก(WHO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และยุทธศาสตร์ของประเทศอาเชียนบวก ๓ (สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) ที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) โดยได้เชิญชวนให้ทุกประเทศเร่งดำเนินการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป สำหรับประเทศไทยนั้น จะต้องมีการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เนื่องจากทุกหน่วยงานต่างเป็นกำลังสำคัญในการเร่งรัดให้การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้ประสบความสำเร็จ มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนชัดเจน มีการประสานงานกันทุกเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการกำหนดแนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าที่ชัดเจนและเป็นไปแนวทางเดียวกันของทุกหน่วยงาน ซึ่งแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากมีการนำไปดำเนินการร่วมกันในทุกระดับก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่กลุ่มประเทศที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าตามเป้าหมายในที่สุด
จากการดำเนินการที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวได้กำหนดกลยุทธ์และตัวชี้วัดเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละหน่วยงานได้นำไปดำเนินการตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าประสงค์ร่วมกันคือไม่ให้มีคนและสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษ-สุนัขบ้า (Rabies Free Area) เพื่อให้แต่ละจังหวัดได้นำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสร้างพื้นที่ปลอดโรคในระดับพื้นที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ได้ทำการประเมินการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าของแต่ละจังหวัดโดยใช้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพการปลอดโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดว่าอยู่ที่ระดับใดจากทั้ง4 ระดับ คือ ระดับปลอดโรค ระดับ A ระดับ B และระดับ C ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าวทำให้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นที่จะขับเคลื่อนสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ฯ พบว่าหลังจากที่ได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในระดับพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 – 2556 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว อีกทั้งหลักเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์ใช้ประเมินการสร้างพื้นที่ปลอดโรคของแต่ละจังหวัดยังไม่ครอบคลุมทุกรายละเอียดของหลักเกณฑ์ทั้งหมด
ดังนั้น นายสัตวแพทย์ชุมพล บุญรอด ผู้อำนวยการส่วนโรคสัตว์กระเพาะเดี่ยว สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดประชุมเพื่อระดมข้อคิดเห็นกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า รูปแบบการประเมินและการรับรองให้เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงแนวทางการเร่งรัดเพื่อทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ขึ้น รวบรวมข้อคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ มาประกอบ การจัดทำแผนแม่บทให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานร่วมกันในทุกระดับต่อไป
-------------------------------------------------------------
ข่าว: สัตวแพทย์หญิงปราณี พาณิชย์พงษ์ / เพ็ญศิริ ดวงอุดม
ข้อมูล: ส่วนบำบัดและรักษาโรคสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ 29 ก.ค. 2556