เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์ ยืนยันมีมาตรการควบคุม ป้องกันโรควัณโรคในปางช้าง (75/2556)

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวถึงการเกิดโรควัณโรคในช้าง กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพช้างมีมาตรการควบคุมโรคในช้างในปางช้างอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรควัณโรค ซึ่งดำเนินการทั้งหน่วยงานภายในกรมฯ และประสานกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งจากการสำรวจช้างที่อาศัยอยู่ในปางช้างที่ได้รับมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 4 ปาง เฉลี่ยการสำรวจ 90 เชือก/ปีนั้น ไม่พบช้างที่ป่วยในระยะแพร่เชื้อวัณโรคจากตัวอย่างที่ส่งตรวจ แต่พบช้างที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ จำนวน 4 เชือก ซึ่งช้างในกลุ่มนี้กรมปศุสัตว์ได้นำมาแยกเลี้ยงไว้ที่ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคแก่ช้างเชือกอื่นๆ ต่อไป

 นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น องค์การสวนสัตว์ กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ จัดทำหนังสือคู่มือเกี่ยวกับโรควัณโรคในช้าง ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

ตามหลักวิชาการกรณีที่พบช้างป่วย โดยทั่วไปจะใช้วิธีกำจัดช้าง แต่เนื่องจากช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศ ซึ่งไม่สามารถทำลายได้ กรมปศุสัตว์จึงได้ทำการรักษาโดยแยกตัวป่วยจากฝูงขังไว้ในที่เฉพาะ และให้ยารักษาวัณโรค ซึ่งการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน และมีค่ารักษาเวชภัณฑ์ประมาณ 100,000 บาท/เชือก แต่การรักษามักไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นวิธีการป้องกันรักษาโรคนี้ที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ช้างได้รับเชื้อวัณโรคโดยหลีกเลี่ยงการนำช้างไปร่วมฝูงกับช้างที่สงสัยเป็นโรค

“โรคนี้เป็นโรคที่รักษามักไม่ประสบความสำเร็จ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และใช้เวลารักษาเป็นเวลานาน การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ อย่าให้ช้างได้รับเชื้อวัณโรคและหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช้างติดต่อสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติม

 *************************************************