เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

โครงการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองประจำถิ่น

 หลักการและเหตุผล

               ไก่พื้นเมืองเป็นทรัพยากรของชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายทั่วไปแทบทุกครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวชนบทไทย  ในปัจจุบันมีประชากรไก่พื้นเมืองของประเทศไทยมีจำนวน 76,155,430 ตัว แยกตามภาคต่าง ๆได้ดังนี้
              ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33,178,193 ตัว , ภาคเหนือ   22,321,080 ตัว , ภาคกลาง 10,201,179 ตัว และภาคใต้ 10,454,978 ตัว ตามลำดับ
              มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง 2,674,497 ครัวเรือน แยกตามภาคต่าง ๆ ได้ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,248,169 ครัวเรือน , ภาคเหนือ 593,206 ครัวเรือน , ภาคใต้ 290,845 ครัวเรือน, และภาคกลาง 305,228 ครัวเรือน ตามลำดับ

              ส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม (กรมปศุสัตว์, 2554) ซึ่งในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยจะมีการเลี้ยงไก่ประจำถิ่น เช่น ไก่แม่ฮ่องสอน ไก่แม่ฟ้าหลวง จะมีการเลี้ยงมากทางภาคเหนือ หรือ ไก่คอล่อน ไก่เบตงจะมีการเลี้ยงมากทางภาคใต้ ไก่ชีเลี้ยงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   เป็นต้น หากไม่มีการรวบรวมพันธุ์และอนุรักษ์ให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจทำให้สายพันธุ์ไก่พื้นเมืองประจำถิ่นของไทยสูญหายไปได้

               การอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองในถิ่นกำเนิดเดิม คืออยู่กับเกษตรกรโดยตรงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เพราะว่าจุดประสงค์ของการอนุรักษ์มุ่งเน้น เพิ่มรายได้เกษตรกรรายย่อย และการอนุรักษ์โดยวิธีนี้จะสามารถรักษาและดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายในด้านแหล่งพันธุกรรม (genetic resources) ของไก่พื้นเมือง ลดความเสี่ยงต่อการสูญหาย และจัดให้มีการรวบรวมและศึกษาคุณลักษณะและศักยภาพการผลิต (productivity) ของไก่พื้นเมืองในชุมชนที่เลี้ยง จะเป็นการช่วยอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ให้คงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป

 วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสำรวจสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่เกษตรกรเลี้ยงในแต่ละท้องถิ่น และสืบค้น รวบรวมภูมิปัญญาเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ในการเลี้ยง การผลิตให้ถูกหลักวิชาการ และควบคุมโรคระบาดได้ และทำการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างนักวิชาการกับเกษตรกรได้า
  2. เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกร ชุมชนเห็นคุณค่าความสำคัญของไก่พื้นเมืองในการอนุรักษ์พันธุกรรม และพัฒนาให้เป็นสินค้า ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของเกษตรกรรายย่อยได้
  3. เพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยง การผลิต การแปรรูป ให้สามารถใช้เป็นช่องทางประกอบอาชีพของเกษตรกรรายย่อยได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับสินค้าที่เป็นผลผลิตจากธุรกิจรายใหญ่
  4. เพื่อพัฒนาเครือข่ายของเกษตรกร ชุมชน ให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว

เป้าหมาย

        1.   จัดทำฟาร์มสาธิต 45 แห่ง

        2.   ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร 270 ราย

พื้นที่ดำเนินการ

              ดำเนินการในจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการของสำนักงานปศุสัตว์เขต และศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่มีความเหมาะสม

ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  1. สร้างเครือข่ายร่วมกับองค์กรของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และนักวิชาการ
  2. จัดทำนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการและสุขาภิบาลฟาร์ม (เน้นเกี่ยวกับเรื่องโรคไข้หวัดนก) และจัดเวทีเสวนาชาวบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
  3. จัดการประกวดฟาร์มไก่พื้นเมือง เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรให้ความสนใจในการจัดการฟาร์มที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แล้วคัดเลือกเป็นฟาร์มตัวอย่างสำหรับเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป
  4. จัดการประกวดไก่พื้นเมือง เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรให้ความสนใจในการคัดเลือกปรับปรุงและขยายพันธุ์
  5. สร้างเกณฑ์ประเมินสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองประจำถิ่น เพื่อจดทะเบียนลิขสิทธิ์ให้เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

         1.   เกษตรกรตื่นตัว และให้ความสำคัญกับสายพันธุกรรมไก่พื้นเมืองประจำถิ่นเป็นทรัพยากรที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และมีแนวทางการพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมรายได้

         2.  บุคคลเป้าหมายมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยง การจัดการและการสุขาภิบาลฟาร์มไก่พื้นเมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งมีความเข้าใจเกี่ยวกับ   สถานการณ์และการป้องกันโรคไข้หวัดนกเพิ่มขึ้น

         3.  เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

        4.   เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปรู้จักชื่อเสียงสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองประจำท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

        5.   ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้มีการสะสมมาหลายชั่วอายุคน ได้มีการสืบทอดต่อไปอย่างต่อเนื่อง