เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

โครงการพัฒนาเครือข่ายการผลิตและการตลาดแพะ

  หลักการและเหตุผล

               แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ตามสถิติของศูนย์สารสนเทศ กรมปศุสัตว์ ปี 2554 พบว่ามีจำนวนแพะ รวม 427,567 ตัว เกษตรกร รวม 41,582 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์เขต (สนง.ปศข.) 6 จำนวน 30,564 ตัว   เกษตรกร 799 ราย สนง.ปศข.7 จำนวน 79,747 ตัว เกษตรกร รวม 1,778 ราย สนง.ปศข.8 จำนวน 53,001 ตัว เกษตรกร รวม 4,672 ราย   สนง.ปศข.9 จำนวน 169,927 ตัว เกษตรกร 30,595 ราย เป็นต้น

               สภาพการเลี้ยงการผลิตทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นอาชีพรอง – อาชีพเสริม ผสมผสานกับกิจกรรมการเกษตรอื่นในครัวเรือน การจัดการฟาร์มส่วนใหญ่ยังไม่ถูกต้องตามหลักสุขศาสตร์ ผลผลิตยังไม่สูงเท่าที่ควร   นอกจากนั้น   มีฟาร์มสาธิตที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จำนวนน้อยมาก การรวมกลุ่มน้อย   มีเครือข่ายหรือชมรมการผลิตและการตลาดแพะที่ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควรในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยีการผลิต ข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงด้านความต้องการ ราคา ในส่วนหน่วยงานของกรมปศุสัตว์เองโดยเฉพาะสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี มีข้อมูล เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ยังไม่ชัดเจน มีฟาร์มเกษตรกรต้นแบบหรือเกษตรกรสาธิตไม่เพียงพอ ตลอดจนข้อมูลการจัดการฟาร์มและข้อมูลสมรรถภาพการผลิตแพะในระดับฟาร์มของเกษตรกรยังมีน้อย

               นอกจากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มียุทธศาสตร์การเกษตร ฉบับที่ 10 ที่ส่งเสริมพัฒนาการสร้างเครือข่ายของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรให้เข้มแข็ง สามารถแลกเปลี่ยนพึ่งพากันเองได้ในด้านวิชาการ การจัดการเรียนรู้   การตลาด   ประกอบกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้แพะเนื้อและแพะนมเป็นสินค้าสำคัญตามยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายชนิดปศุสัตว์ด้วย ตามแผนปฏิบัติการกระทรวงเกษตรฯ พ.ศ.2555 -2558 อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ ปี 2552 – 2555 มีประเด็นยุทธศาสตร์ รวม 4 ด้าน โดยมีด้านการสร้างและพัฒนาเครือข่ายด้านปศุสัตว์ให้เข้มแข็งด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นดำเนินการโครงการนี้เพื่อการพัฒนาการผลิตแพะในระดับฟาร์มเกษตรกรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

  วัตถุประสงค์

               1.   เพื่อสำรวจข้อมูลและการขับเคลื่อนเครือข่ายการผลิต – การตลาดแพะ ทั้งระดับจังหวัดและ ระหว่างจังหวัด

              2.   เพื่อพัฒนาฟาร์มเกษตรกรแกนนำ และเกษตรกรเครือข่ายด้านการผลิต การตลาดเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกร

              3.   เพื่อศึกษา วิเคราะห์ระบบการผลิต การตลาดแพะของฟาร์มเกษตรกร

  เป้าหมาย

              1.   มีเครือข่าย (หรือชมรม) ด้านการผลิตและการตลาดแพะ ระดับจังหวัด จำนวน 10 จังหวัด

              2.   เกษตรกรได้รับการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี 660 ราย สนง.ปศข.

พื้นที่ดำเนินการ

              1.   สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในเขตพื้นที่ สนง.ปศข. 6 ได้แก่ เพชรบูรณ์

              2.   สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในเขตพื้นที่ สนง.ปศข. 7 ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี

              3.  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในเขตพื้นที่ สนง.ปศข. 8 ได้แก่ นครศรีธรรมราช, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, ระนอง และ ชุมพร

             4. ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี 3 แห่ง ได้แก่ ศวท.เขาไชยราช, นครศรีธรรมราช และนราธิวาส

ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน

              1.   สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ (ส.ส.ส.) ร่วมจัดทำโครงการ แผนปฏิบัติงาน กับหน่วยงานภูมิภาค

              2.   สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ

                           2.1    สำรวจข้อมูลการผลิตการตลาดของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่

                           2.2    จัดทำเครือข่ายผู้ผลิต – การตลาดแพะในจังหวัด โดยดำเนินการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตและการตลาด รวบรวมรายชื่อเกษตรกร ข้อมูลการผลิต การตลาดของเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง ปีละ 2 ครั้ง

                           2.3   คัดเลือกฟาร์มเกษตรกรที่มีสภาพการผลิตระดับปานกลางขึ้นไป เป็นฟาร์มเกษตรกรแกนนำ พร้อมให้มีฟาร์มเกษตรกรเครือข่าย

                          2.4    อบรมเกษตรกรและพัฒนาเครือข่ายกับเกษตรกรแกนนำ   เกษตรกรเครือข่ายและเกษตรกรที่สนใจจังหวัดละ 2 ครั้งๆ ละ 30 ราย รวม 60 ราย

             3.   ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ดำเนินการกิจกรรมดังนี้

                          3.1   วิเคราะห์ศักยภาพการเลี้ยงแพะของเกษตรกร รวมมือกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด

                          3.2    ติดตาม ประเมินผลในด้านศักยภาพการพัฒนาเครือข่าย การผลิต การตลาด และการเรียนรู้ ทั้งภายในเครือข่ายย่อย ระหว่างเครือข่าย และ ผู้เกี่ยวข้องในเขตจังหวัดรวมทั้งระหว่างจังหวัดและระหว่างพื้นที่ สนง.ปศข.

                          3.3    จัดประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่ - เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องประมวลองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาเครือข่ายการผลิตและการตลาดในเขตพื้นที่ สนง.ปศข. และ ศวท. ละ 1 ครั้ง

                           3.4     ศวท., สนง.ปศุสัตว์จังหวัด และ สนง.ปศข. ส่งข้อมูลให้ ส.ส.ส.เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนเครือข่ายการผลิตและการตลาดแพะเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่ทันสมัยเผยแพร่/ประสานกับเกษตรกร

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

               1.   ทราบข้อมูลภาพรวมลักษณะการผลิต การตลาดแพะ ในเขตจังหวัดและ สนง.ปศข.พื้นที่เป้าหมาย

               2.   มีข้อมูลเชิงลึกด้านเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิต การตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในเครือข่ายย่อย ระหว่างเครือข่ายและกับผู้เกี่ยวข้องในจังหวัด และในพื้นที่ สนง.ปศข.

              3.    ทราบผลศึกษาวิเคราะห์สภาพการใช้เทคโนโลยีการผลิต ต้นทุนระดับฟาร์มขนาดต่างๆ

              4.    ผลการวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตของเกษตรกร การพัฒนาการทำงานเครือข่าย สามารถประมวลเป็นผลงานวิชาการ

              5.    เพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกร ด้านการขาดแคลนพันธุ์แพะพันธุ์ดี ด้านโรคแพะและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้น