โครงการ
หลักการและเหตุผล
จากปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ผันผวนไม่แน่นอน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป เป็นเหตุให้เกษตรกรบางส่วนหันไปประกอบอาชีพอื่นแทนการทำการเกษตร โดยจะพบว่าเกษตรกร ที่ประกอบอาชีพการเกษตรในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ ในขณะที่เยาวชนและคนหนุ่มสาวไม่ให้ความสนใจกับอาชีพเกษตรกร ลูกหลานเกษตรกรที่ได้รับการศึกษาไม่กลับไปประกอบอาชีพการเกษตร บางส่วน ทิ้งท้องถิ่นเพื่อหันไปประกอบอาชีพรับจ้างและขายแรงงงานแทน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของประเทศในอนาคต
ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมลงนามบันทึกความตกลงร่วมมือในการจัดทำโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ผ่านกลไกวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง และวิทยาลัยการอาชีพ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงองค์ความรู้ทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ ปรับโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสม
ตลอดจนติดตามสนับสนุนการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และการตลาด ใช้กระบวนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะพึ่งพาตนเอง พึ่งพาปัจจัยการผลิตและตลาดที่มีในชุมชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน นำมาซึ่งความสำเร็จในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพที่ทำอยู่ และสุดท้ายจะก่อให้เกิดความมั่นใจกับเกษตรกรที่จะประกอบอาชีพการเกษตรต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรรุ่นใหม่
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- เพื่อส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะพึ่งพาตนเอง
- เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพการเกษตรแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ แก้ไขปัญหาการลดลงของประชากรภาคเกษตรของประเทศ
เป้าหมาย
- ถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริม และสนับสนุนการอาชีพการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ในลักษณะบูรณาการ จำนวน 9,000 ราย ประกอบด้วย
1.1 เกษตรกรภายใต้พื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และเกษตรกรภายใต้พื้นที่รับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) จำนวน 4,570 ราย
1.2 เกษตรกรภายใต้พื้นที่รับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ (กปศ.) จำนวน 4,430 ราย - เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งแก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จำนวน 886 กลุ่ม
พื้นที่ดำเนินการ 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานดำเนินการ
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด (สนง.ปศจ.) รับผิดชอบ : คัดเลือกและอบรมให้ความรู้เกษตรกร ส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ พัฒนากลุ่มเกษตรกร
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
- การพัฒนาความรู้เกษตรกรเป้าหมาย
- การติดตามสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์
- การติดตาม ประเมินผล และรายงานผล
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- เกษตรกรได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อพัฒนาตนเองเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 9,000 คน
- เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ แก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ ที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทั้งในรูปแบบของรายได้เสริม รายได้รองและรายได้หลัก
- กลุ่มเกษตรกร จำนวน 886 กลุ่ม มีศักยภาพและความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น
- เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงยั่งยืนและความมั่นใจในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร