โครงการ
หลักการและเหตุผล
กว่าร้อยละ 80 ของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้มักทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีทั้งการเพาะปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์และการประมงผสมผสานเข้าด้วยกัน การทำการเกษตรในรูปแบบดังกล่าวมีข้อดีที่สำคัญ คือ ก่อให้เกิดการใช้ปัจจัยการผลิต และผลพลอยได้ร่วมกัน เป็นผลให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการผันแปรด้านการตลาด สร้างความเข็มแข็งยั่งยืนต่ออาชีพการเกษตรของเกษตรกร รวมทั้งยังสอดคล้องตามหลักวิธีการในระบบเกษตรยั่งยืนและเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยหลายรายประสบความสำเร็จจากการประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ผสมผสานร่วมกับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอาทิ นาข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ สวนผลไม้ โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างบริเวณแถวปลูกและวัสดุเหลือจากกระบวนการเพาะปลูก มาเป็นอาหารและใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ในขณะเดียวกันได้นำมูลสัตว์กลับไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืชเศรษฐกิจดังกล่าว หรือผลิตแก๊สชีวภาพสำหรับใช้ในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้จากกิจกรรมการเกษตรทั้งสองประเภทไปพร้อมกัน
ความสำเร็จของเกษตรกรเหล่านี้สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ที่ยังประสบปัญหากับการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือไม่สามารถบูรณาการผสมผสานการเกษตรประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ทำให้ประสบกับการขาดทุน มีปัญหาหนี้สินจนท้อถอยเลิกประกอบอาชีพการเกษตรและกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศ
ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยหันมาประกอบอาชีพการเกษตรแบบผสมผสานโดยมีการเลี้ยงสัตว์เป็นตัวช่วย ภายใต้องค์ความรู้และตัวอย่างจากศูนย์เรียนรู้ ที่เกิดจากความสำเร็จของเกษตรกรตัวอย่าง รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย รู้จักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พึ่งพาตนเองและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตลอดจนการรวมพลังเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทั้งในด้านการผลิตและด้านการตลาด นำมาซึ่งความเข้มแข็งและยั่งยืนในอาชีพ เหล่านี้ จึงน่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ถูกต้องและมีความเป็นได้มากที่สุด
วัตถุประสงค์
- เพื่อจัดตั้งและพัฒนาความพร้อมของศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานจากฟาร์มเกษตรกรตัวอย่าง สำหรับเป็นแบบอย่าง แหล่งเรียนรู้และอบรมเกษตรกรในระดับท้องถิ่น
- เพื่อถ่ายทอดความรู้ ขยายผลแนวคิดและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ รวมทั้งจัดสร้างกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน
- เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมผ่านกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกร
- เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
เป้าหมาย
- จัดตั้งและพัฒนาความพร้อมของศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในฟาร์มเกษตรกร จำนวน 450 ฟาร์ม
- อบรมเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ จำนวน 9,000 ราย
- พัฒนากลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จำนวน 144 กลุ่ม 30 ชมรม 4 เครือข่าย (แพะ ไก่งวง ไก่พื้นเมืองและเป็ดเทศ)
พื้นที่ดำเนินการ 75 จังหวัด
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานดำเนินการ
- สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด (สนง.ปศจ.) รับผิดชอบ : พัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ คัดเลือกเกษตรกร อบรมความรู้และพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร
- ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (ศวท.) รับผิดชอบ : พัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ คัดเลือกเกษตรกร อบรมความรู้และพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร
- สำนักงานปศุสัตว์เขต (สนง.ปศข.) รับผิดชอบ : ประชุมชี้แจง จนท. พัฒนาเครือข่ายเกษตรกร ติดตามนิเทศ ประเมินความพร้อมของศูนย์เรียนรู้และกลุ่มเกษตรกร
ขั้นตอนการดำเนินการ
- การพัฒนาความพร้อมของเจ้าหน้าที่
- การพัฒนาความพร้อมศูนย์เรียนรู้
- การคัดเลือกเกษตรกรเข้ารับการอบรม
- การอบรมความรู้แก่เกษตรกร
- การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
- การติดตาม ประเมินและรายงานผล
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- รูปแบบข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรผสมผสานที่เหมาะสม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- มีศูนย์เรียนรู้ฯ จำนวน 450 ฟาร์ม เป็นแหล่งศึกษาดูงานและอบรมความรู้แก่เกษตรกรและ ผู้สนใจ
- เกษตรกรอย่างน้อย จำนวน 9,000 คน มีความรู้และทักษะในการจัดการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น รวมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนเอง
- กลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จำนวน 144 กลุ่ม 30 ชมรม 4 เครือข่าย ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็ง
ข้อมูลเป้าหมาย : ศูนย์เรียนรู้
ข้อมูลเป้าหมาย : ศูนย์เรียนรู้ (เศรษฐกิจพอเพียง) ภายใต้โครงการสร้างพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในเกษตกรรายย่อย ประจำปีงบประมาณ 2555
สรุปจำนวนศูนย์เรียนรู้ (เศรษฐกิจพอเพียง)
ข้อมูลเป้าหมาย : ศูนย์เรียนรู้ (เฉพาะด้าน)
สรุปจำนวน : ศูนย์เรียนรู้ (เฉพาะด้าน)