1. งานสนับสนุนการค้า
หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากความล้มเหลวของการเจรจาการค้าในกรอบของ WTO ประกอบกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกระแสการเจรจาการค้าในระดับทวิภาคี ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับ ประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหา Trade Diversion ที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่ประเทศไทยหยุดนิ่งอยู่กับที่ นอกจากนี้ การจัดทำเขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นความพยายามในการลดการกีดกันทางการค้าทั้งมาตรการทางด้านภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทย กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนการค้าระหว่างกันให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นโยบายการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ของรัฐบาล ไม่เพียงแต่เป็นการขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้การแข่งขันที่ไม่มีมาตรการทางภาษีคุ้มครองอีกต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้การค้าสินค้าปศุสัตว์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้การแข่งขันในกรอบการค้าเสรี จึงมีความจำเป็นในการดำเนินการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ และผลกระทบที่มีต่อการค้าสินค้า ปศุสัตว์ของไทย รวมถึงการจัดสัมมนาเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ประเด็นต่าง ๆ จากผู้ประกอบการ และเกษตรกร เพื่อรวบรวมนำเสนอในการจัดทำกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนการเปิดตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมของสินค้าปศุสัตว์
2. เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์การค้าสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย
3. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
เป้าหมาย
นักวิชาการกรมปศุสัตว์ เกษตรกรและผู้ประกอบการ
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. กิจกรรมวิเคราะห์เศรษฐกิจการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ
1.1 ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ มาตรการธุรกิจและผลกระทบต่อข้อตกลง กฎ ระเบียบ จัดเตรียมข้อมูลและกำหนดท่าทีในการเจรจา และจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
1.2 รวบรวม ติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อการค้าสินค้าปศุสัตว์ของไทยกับประเทศต่างๆ ภายใต้การดำเนินการตามความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย เป็นต้น
2. แสวงหาความร่วมมือด้านการปศุสัตว์กับประเทศคู่ค้า FTA เพื่อสร้างศักยภาพการผลิตและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
3. กิจกรรมประชุมสัมมนาเพื่อลดผลกระทบของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จากความตกลงการค้าเสรี จัดการประชุม/สัมมนา เพื่อรายงานความคืบหน้าและระดมความเห็นต่อสถานการณ์ในการดำเนินการค้า อุปสรรคและผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการ เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความตกลงเขตการ ค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะจัดการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 1 ครั้ง และสรุปผลการสัมมนา จากการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการจัดทำกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าปศุสัตว์เพื่อรองรับการแข่งขันภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้ประกอบการได้ทราบสถานการณ์ทางการการค้า และผลกระทบจากการทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
2. สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาจัดทำแนวทาง นโยบาย มาตรการในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและลดผลกระทบจากการทำความตกลงเขตการค้าเสรี